ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

by Chetbakers

การเข้าร่วมประชุม COP29 ปีนี้เป็นความคาดหวังของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยซึ่งมีความเสี่ยงภัยจากภาวะโลกร้อน อันดับ 9 ของโลก

ประเทศไทยมีความเสี่ยงภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับ 9 ของโลก โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 258 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 0.76% ติดอันดับที่ 24 ของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด (1) โดยส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานประมาณ 70% ซึ่งการสะสมของก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมากขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อระบบของโลก โดยได้ส่งสัญญาณเตือนผ่านสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น (2) หากทุกประเทศไม่ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยสำคัญ โลกอาจเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิถึง 3-5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 (3)

​COP29 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 ได้เปิดฉากไปแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน การเข้าร่วมของประเทศไทยจึงจะเป็นโอกาสที่จะแสดงบทบาทและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในการมีส่วนร่วมกับนานาประเทศอย่างแข็งขันในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) (4)

​ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ต่อมาได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 และความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ไทยได้เข้าร่วมการประชุมฯ และดำเนินการตามพันธกรณีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ (4)

​อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมประชุม COP29 ของไทยในครั้งนี้ ได้เตรียม 5 ประเด็นสำคัญที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ไปนำเสนอต่อที่ประชุม ประกอบด้วย ดังนี้
​1) การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30 – 40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

​2) การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ

​3) การเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสู่ Net Zero ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม. โดยคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2569 ซึ่งมีรายละเอียดอย่างเช่น กำหนดให้จัดทำฐานข้อมูล และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, สร้างกลไกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ เช่น ระบบ Emission Trading Scheme และ Carbon Tax, เชื่อมโยงคาร์บอนเครดิตกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นตลาดหลัก

​4) นำเสนอตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรมจากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)

​5) การจัดส่งรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา (4) (5)

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความคืบหน้าที่ประเทศไทยได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างเช่นเรื่อง NDC โดยเฉพาะ NDC3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) เพิ่มเติมจากแผนเดิมที่กำหนดเป้าหมาย 30-40% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยไทยจะเสนอยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สูงขึ้นระดับ 40- 60% ซึ่งตามข้อตกลงปารีสกำหนดส่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 (ค.ศ. 2025), มีการกำหนดเป้าหมายในแต่ละสาขา ได้แก่ พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย เกษตร และการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในโครงการนำร่องแหล่งอาทิตย์, กำหนดการส่งมอบเอกสารอย่างเป็นทางการตาม UNFCCC ในช่วงต้นปี 2568 (ค.ศ. 2025) (5)

​นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs) ที่จะนำเสนอผลการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยกับสภาพันธ์รัฐสวิส ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก จำนวน 1,916 tCO2eq ซึ่งเป็นการไปตอกย้ำความเป็นผู้นำของไทย เพราะเป็นเจ้าแรกของโลกที่ทำความตกลงแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกับสวิตเซอร์แลนด์สำเร็จ ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้จะหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการทำรายงานให้ราบรื่นตามข้อกำหนด, การนำเรื่อง the First Global Stocktake (กระบวนการตรวจสอบความก้าวหน้าระดับโลกในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศทุก ๆ 5 ปี) เพื่อเสนอสถิติภัยพิบัติ และความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน ในช่วงปี 2567 เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงกองทุน Loss and Damage สำหรับไทยและประเทศในภูมิภาค (5) (6)

​สำหรับประเด็น Thailand Taxonomy Phase II หรือมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมสำหรับประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะครอบคลุม 4 ภาคเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1) ภาคเกษตร รวมถึงปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ 2) ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ 3) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ 4) ภาคการจัดการของเสีย เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปรับใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2567 – 10 มกราคม 2568 (5)

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นทำงานอย่างก้าวหน้า และคาดหวังเรื่องเงินจากกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหายที่สามารถทำให้มั่นใจว่าจะมีการจัดสรรเงินทุนที่ไทยเข้าถึงได้ อีกทั้งจะมีการหารือถึงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) เพื่อเปรียบเทียบให้แน่ใจว่าตัวชี้วัดระดับโลกที่กำลังพัฒนาสอดคล้องกับตัวชี้วัดของประเทศไทย ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบ NAP ร่วมกับอีก 7 กระทรวง ครอบคลุม 6 สาขา คือ 1. การจัดการน้ำ 2. การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3. การท่องเที่ยว 4. สาธารณสุข 5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 6. การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ (6)

​การเข้าร่วมประชุม COP29 ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศไทย เนื่องจากการบรรลุข้อตกลงจากผลการเจรจาจะมีผลต่อประโยชน์ของไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการดำเนินการตามข้อตกลงที่ผ่านมา และเงินทุนสนับสนุนในการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ที่สำคัญทุกความก้าวหน้า หมายถึงโอกาสในการลดความเสี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศจากปัจจุบันที่รั้งอยู่อันดับ 9 ของโลก

อ้างอิง:
(1)​https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/63468
(2)​https://www.prachachat.net/economy/news-1627492
(3)​https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/606991
(4)​https://www.facebook.com/dcceth/posts/963539062469183
(5)​file:///C:/Users/chetb/Downloads/CI3534P.pdf
(6)​https://www.bangkokbiznews.com/environment/1152918

Copyright @2021 – All Right Reserved.