รู้จัก ‘อาเซอร์ไบจาน’ เจ้าภาพประชุม COP29 ณ กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน

by Chetbakers

ปีนี้ COP29 หรือการปะชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลก จัดขึ้นที่กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน ประเทศในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้อยู่ติดทะเลแคสเปียน

ในปีนี้สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) ครั้งที่ 29 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า COP29 ณ กรุงบากู ซึ่งเป็นเมืองหลวง

หลายคนอาจไม่ทราบว่า อาเซอร์ไบจานตั้งอยู่ในทวีปเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีอาณาเขตติดกับชายแดนยุโรปตะวันออกกับเอเชียตะวันตก ทางทิศตะวันออกจรดทะเลแคสเปียน ทิศเหนือติดกับรัสเซีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจอร์เจีย ทิศตะวันตกติดกับอาร์มีเนีย และทิศใต้ติดกับอิหร่าน (1)

ประเทศเจ้าภาพ COP29 มีประชากรกว่า 10 ล้านคน อุตสาหกรรมหลักคือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยมีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ข้อมูลเมื่อปี 2560 อาเซอร์ไบจานมีน้ำมันติดอันดับ 20 ของโลก และก๊าซธรรมชาติ อันดับ 27 (2) ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศและสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงความมุ่งมั่นของอาเซอร์ไบจานต่อนโยบายที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศในช่วงการทำหน้าที่เจ้าภาพในฐานะเป็นประเทศพึ่งพารายได้หลักจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (3)

การประชุม COP ถือเป็นหลักชัยระดับโลกสำหรับการขับเคลื่อนการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มีการจัดประชุมขึ้นในทุกปี โดยหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกทั้ง 5 กลุ่ม (แอฟริกา เอเชียแปซิฟิก ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ยุโรปตะวันตกและอื่น ๆ) โดยสมาชิกกลุ่มภูมิภาคจะเป็นผู้กำหนดว่าประเทศใดในภูมิภาคจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมและให้การยอมรับ

ซึ่งการประชุม COP ครั้งแรกขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2538 (4) โดยแต่ละครั้งทั่วโลกต่างจับตาถึงการบรรลุข้อตกลงที่จะมีผลตามมา เพื่อจะได้ทราบทิศทางการดำเนินงานและความคืบหน้าภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะมีก็แค่การประชุม COP26 ที่ต้องเลื่อนการประชุมจากปี 2563 ไปจัดในปีถัดไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19

ภายหลังได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เจ้าภาพดำเนินการจัดประชุม COP29 อาเซอร์ไบจานได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนตามแผนของประเทศ โดยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ตลอดจนจะปรับปรุงระบบพลังงานที่มีอยู่ให้หลากหลายยิ่งขึ้นเพื่อเป็นผู้นำด้านพลังงานสีเขียว โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น รวดเร็ว และต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (5)

ในฐานะประธาน COP29 การประชุมที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11 ถึง 22 พฤศจิกายน 2567 มุกห์ตาร์ บาบาเยฟ (Mukhtar Babayev) มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมายและความทะเยอทะยานของข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะผลักดันแผนระดับชาติที่มีการปรับปรุงใหม่ รวมถึงบทบาททางการเงินซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนความทะเยอทะยานให้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และจัดการกับความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น (6) ซึ่งปัจจุบัน COP มีภาคีอนุสัญญาฯ 198 ภาคี (197 ประเทศบวกสหาพยุโรป) การประชุมแต่ละครั้งจะเชิญตัวแทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มอุตสาหกรรม และบุคคลสาขาต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย

ที่ผ่านมาการประชุม COP ได้สร้างข้อตกลงและความร่วมมือระดับโลกที่สำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น COP3 ในปี 2540 ที่กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นจุดเริ่มต้นของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ ทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา และมีการบังคับใช้ในเวลาต่อมาให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง (7)

COP21 ในปี 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นำมาซึ่งข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกคือ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมายร่วมกันในการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 – 2 องศาเซลเซียส แต่ละประเทศต้องตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs) ปรับตัวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดให้มีการสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศต่าง ๆ ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะมีการทบทวนเป้าหมายทุก ๆ 5 ปี (7)

สำหรับการประชุม COP30 ปี 2568 สหประชาชาติได้เลือกให้ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยจะจัดขึ้นที่เมืองเบเลม ดูปารา (Belém do Pará) ในเขตแอมะซอน ซึ่งบราซิลได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพล่วงหน้าและได้รับการเลือกเมื่อครั้งการประชุม COP27 (8)

อ้างอิง:
(1) https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2315e39c306000a27a…
(2) https://europetouch.mfa.go.th/th/country/AZ…
(3) https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/610545
(4) https://www.un.org/en/climatechange/un-climate-conferences
(5) https://cop29.az/en/home
(6) https://cop29.az/en/presidency/cop29-presidency-team
(7) https://www.facebook.com/photo.php?fbid=3016682828548839&id=1793843694166098&set=a.1793957644154703
(8)https://edition.cnn.com/…/brazil-cop30…/index.html
.

Copyright @2021 – All Right Reserved.