ข้อบัญญัติใหม่ กทม. ไม่แยกขยะเก็บ 60 บาท/เดือน แยกขยะจ่าย 20 บาท

by Chetbakers

กทม.แบกค่ากำจัดขยะไม่ไหว ออกข้อบัญญัติใหม่เพิ่มค่าเก็บขยะบ้านที่ไม่คัดแยกขยะเดือนละ 60 บาท บ้านที่แยกขยะจ่ายแค่ 20 บาท บังคับใช้อีก 180 วัน

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ กทม.จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะตามข้อบัญญัติใหม่ที่ผ่านสภามาก่อนหน้านี้ โดยให้บ้านที่แยกขยะยังคงเสียค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะ 20 บาทต่อเดือน สำหรับบ้านที่ไม่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 60 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเปิดให้มีการลงทะเบียนและมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการแยกขยะจริงหรือไม่

ปัจจุบันใน กทม.มีขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัดที่ 8,900 ตันต่อวัน หรือเท่ากับ 8,900,000 กก. และต้องแบกภาระงบประมาณจัดเก็บกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี หรือมีใช้ค่าใช้จ่ายในการกำจัดอยู่ที่ 2,300 บาทต่อตัน และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นการแยกขยะของครัวเรือนจึงเป็นอีกแนวทางในการช่วยลดภาระในการจัดการขยะ โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน

อัตราค่าธรรมเนียมใหม่จะแบ่งออก ดังนี้
กลุ่ม 1 เช่น บ้านเรือน หากทิ้งขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท
กลุ่ม 2 เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หากขยะเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าเก็บและขน 60 บาท/20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร
กลุ่ม 3 เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด โรงแรม สถานประกอบการ หากขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าเก็บและขน 3,250 บาท/1 ลบ.ม. ค่ากำจัด 4,750 บาท/1 ลบ.ม. รวม 8,000 บาท/1 ลบ.ม.

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กว่า ที่ผ่านมา กทม.ใช้อัตราค่าเก็บขยะมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และถ้าใครต้องการจะลดค่าธรรมเนียมก็ต้องมีการแยกขยะไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดปริมาณขยะที่จะทิ้งให้กับ กทม.

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่ 1 กทม.จะเปิดให้บ้านที่แยกขยะสามารถลงทะเบียนเพื่อลดหย่อนค่าธรรมเนียมกลับมาเป็น 20 บาท/เดือนได้ (จาก 60 บาท/เดือน) ที่ผ่านมาทำได้แค่ส่งเสริม ขอความร่วมมือ หรือสมัครใจ แต่ยังไม่พอ

มาตรการนี้เป็นครั้งแรกที่จะมีการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีการแยกขยะ เป็นแรงจูงใจให้คนอยากแยกให้เห็นได้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ถ้าไม่แยกก็จ่ายอัตราเต็ม

หลังจากนี้ กทม. จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอีกเรื่อยๆ ก่อนบังคับใช้จริง และเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน และเจ้าหน้าที่จะลงไปตรวจสอบ เพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ได้เสนอญัตติ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เพื่อปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด

ทั้งนี้ การเก็บค่าขยะอัตราเดิม กทม.จะมีรายได้ 169 ล้านบาทต่อปี หากเก็บในอัตราใหม่จะได้ประมาณ 676 ล้านบาท หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มจาก 20 บาทเป็น 80 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าในเวลานี้ จะกระทบกับประชาชน จึงเห็นควรให้ขยายเวลาการเก็บเพิ่มออกไปอีก 1 ปี และจะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 เป็นต้นไป

Copyright @2021 – All Right Reserved.