นายกฯ เปิดทางงัดมาตรการไม่รับซื้อข้าวโพด อ้อย จากการเผาทั้งในและต่างประเทศ ให้คมนาคมตรวจจับรถยนต์ควันดำ ควบคุมโรงงานปล่อยควันรัดกุมมากขึ้น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว
รวมถึงปัญหาภาคการเกษตรว่าจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง เช่น ไม่รับซื้อข้าวโพด อ้อย จากการเผาทั้งในและต่างประเทศ ส่วนภาคอุตสาหกรรมให้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงคมนาคมให้ตรวจจับรถยนต์เข้มงวดมากยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมให้ออกมาตรการควบคุมโรงงานที่รัดกุมมากขึ้น
ทส. เร่งกำหนดมาตรการบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่า PM2.5
“ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อนแล้วจึงแก้ไข เพื่อที่จะได้ประสานงานถึงที่มาของฝุ่นควัน ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือเกษตรกรในประเทศ โดยมีมาตรการว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดและอ้อยที่เกิดจากการเผาทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากทำให้เกิดฝุ่นควัน” นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2567 ได้มีการกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน 4 นโยบายหลัก ได้แก่
1. การดำเนินงานด้านสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การเร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 3. การแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ขยะมูลฝอย ภายหลังการเกิดอุทกภัย 4. สนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบวาระที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่
1) หลักการสัญญารับเงินอุดหนุน (Grant Agreement) ภายใต้โครงการ Thai – German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate (TGC EMC) จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน 234 ล้านบาท โดยเป็นเงินอุดหนุนเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม 150 ล้านบาท
2) โครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ด้วยภาคประชาชน
3) มาตรการควบคุมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตรายและโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน
4) มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ประกอบด้วย มาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง การจัดการหมอกควันข้ามแดน และการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค และศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระดับจังหวัด
มาตรการรับมือสถานการณ์ PM2.5 ปี 68
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด โดยปฏิบัติการมีดังนี้
• ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด
• การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
• การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา
• การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง
• การจัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน
• การบริหารจัดการภาพรวม จะเร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5 มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต
กำหนดเป้าหมายลดพื้นที่เสี่ยง
• ลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่า ร้อยละ 25
• บริหารจัดการพื้นที่ป่าแปลงใหญ่รอยต่อไฟ 14 กลุ่มป่า (Cluster) ด้วยกลไกข้ามเขตป่าข้ามเขตปกครอง
• ลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรและพืชเป้าหมาย ร้อยละ 10 – 30
• ควบคุมฝุ่นจากยานพาหนะและโรงงานในพื้นที่เมือง ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบ ร้อยละ 100
• ตั้งเป้าลดค่าเฉลี่ย PM2.5 ลงร้อยละ 5 – 15
• ควบคุมค่าเฉลี่ย PM2.5 24 ชั่วโมงสูงสุดไม่เกินค่าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และลดจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานลงร้อยละ 5 – 10
สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการดำเนินงานตามมาตรการ โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ชุมชนและริมทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ทั้งในมิติการส่งเสริมและการบังคับใช้กฎหมาย
รวมถึงเตรียมพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุข การ Work From Home การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชน และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai