อุณหภูมิเพิ่ม ปัจจัยเร่งพายุรุนแรงขึ้น 2 เท่า น้ำท่วมไทยอ่วม 46,500 ล้าน

by Chetbakers

โลกร้อนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พายุเฮอริเคนรุนแรงขึ้น และจะเกิดถี่ขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นมากขึ้นจะเป็นปัจจัยเร่ง

ผลการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณฝนที่ตกลงมาสืบเนื่องมาจากจากพายุเฮอริเคนเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งพายุลูกนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 220 ราย ใน 6 มลรัฐของสหรัฐฯ เมื่อสองสัปดาห์ก่อน โดยมีปัจจัยจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ความเร็วลมของพายุเฮเลนเพิ่มขึ้นประมาณ 11% และในอนาคตจะเป็นสาเหตุทำให้พายุเฮอริเคนที่มีลักษณะคล้ายกับพายุเฮอริเคนเฮเลนเกิดขึ้นบ่อยเป็นสองเท่า

จากผลการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด นักวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศและทำให้พายุเฮอริเคนมีความรุนแรงและพลังงานสูง เช่น พายุเฮเลนเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำทะเลอุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อตัวของพายุประเภทนี้

จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพายุในลักษณะเดียวกันนี้จะเกิดบ่อยขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการควบคุมสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม ซึ่งบทวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่า ความร้อนในอ่าวเม็กซิโกที่ทำให้พายุเฮเลนรุนแรงขึ้นนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นมากขึ้น 200-500 เท่า นั่นหมายถึงพลังการทำลายล้างจะยิ่งสูงตามไปด้วย

อย่างกรณีพายุเฮเลนซึ่งเป็นหนึ่งในพายุที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มความรุนแรงขณะเคลื่อนตัวเหนืออ่าวเม็กซิโก ก่อนจะพัดขึ้นฝั่งด้วยความเร็วลม 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากองค์กร World Weather Attribution กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้พายุรุนแรงอย่างเฮอริเคนเฮเลนมีโอกาสเกิดมากขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งมีโอกาสสูงในระดับนี้หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

เบอร์นาเด็ตต์ วูดส์ แพลกกี้ หัวหน้านักอุตุนิยมวิทยาจาก Climate Central หนึ่งในกลุ่มที่ทำการศึกษากล่าวว่า “ความร้อนที่กิจกรรมของมนุษย์เพิ่มเข้าสู่บรรยากาศและมหาสมุทรเปรียบเหมือนสเตียรอยด์สำหรับพายุเฮอริเคน” และเสริมว่าพายุอย่างเฮเลนและมิลตันกำลังกลายเป็นพายุที่พร้อมจะ “ระเบิด” ได้เพราะความร้อนที่มากเกินไป

การศึกษาของ Climate Central พบว่า อุณหภูมิผิวทะเลรอบเส้นทางของพายุมิลตันมีโอกาสเกิดมากขึ้น 400-800 เท่า เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ยิ่งสภาพอากาศร้อนขึ้น โอกาสจะเห็นพายุกลายเป็นเฮอริเคนขนาดยักษ์อย่างรวดเร็วและจะนำไปสู่การทำลายล้างมากขึ้น ซึ่งพายุมิลตันมีความรุนแรงขึ้นขณะเคลื่อนตัวเหนืออ่าวเม็กซิโก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ถึงกับตกตะลึง เมื่อมันเพิ่มระดับจาก 1 เป็นระดับ 5 โดยมีความเร็วลมสูงสุดถึง 289.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในเวลาเพียง 9 ชั่วโมง

ทั้งพายุเฮเลนและมิลตันที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วเหนืออ่าวเม็กซิโกมาจากความร้อนของน้ำทะเลที่สูงเป็นพิเศษ นับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนนี้ น้ำทะเลทั้งบริเวณผิวน้ำและใต้ผิวน้ำของอ่าวอยู่ในระดับที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ ราวกับอ่างน้ำร้อน ซึ่งทำให้ฝนตกหนัก และทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงอย่างฤทธิ์เดชของพายุเฮเลนที่พัดถล่มพื้นที่ห่างไกลในแถบตะวันตกของรัฐนอร์ทแคโรไลนา

นักวิทยาศาสตร์ยังชี้ว่า บรรยากาศที่อบอุ่นขึ้นสามารถกักเก็บไอน้ำได้มากขึ้นประมาณ 7% ต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส ในขณะที่ปัจจุบันโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างน้อย 1.3 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่าความววิบัติที่จะตามมาจากพายุจะยิ่งรุนแรงขึ้นตามระดับอุณหภูมิที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังจากนี้

รู้จักประเภทของพายุหมุนเขตร้อน
• พายุดีเปรสชัน (depression) : มีความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลักษณะของพายุดีเปรสชันมักมีการหมุนวนของลมไม่ชัดเจน และมีฝนตกปานกลางใกล้ศูนย์กลาง
• พายุเขตร้อน (tropical storm) : รุนแรงกว่าพายุดีเปรสชัน มีความเร็วลมสูงสุด 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการหมุนวนของลมชัดเจนกว่าพายุดีเปรสชัน และมักจะก่อให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
• พายุไต้ฝุ่น (typhoon)* : เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ มีความเร็วลมสูงสุดตั้งแต่ 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจมากถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการหมุนวนของลมอย่างรุนแรงและมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

โดยพายุหมุนเขตร้อนจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามพื้นที่ที่เกิดพายุ ซึ่งถ้าเป็นพายุหมุนเขตร้อนในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกจะเรียกว่าพายุไต้ฝุ่น เช่น พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนหรือพายุไต้ฝุ่นโยลันดาที่เกิดในประเทศฟิลิปปินส์ และหากเกิดพายุหมุนเขตร้อนในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียจะเรียกว่าพายุไซโคลน เช่น พายุไซโคลนอิดาอี พายุไซโคลเฟรดดี ที่เข้าปะทะประเทศโมซัมบิก พายุไซโคลนโมคาในประเทศเมียนมา ขณะที่การเกิดพายุหมุนเขตร้อนในเขตมหาสมุทรแอตแลนติกจะเรียกว่าพายุเฮอริเคน เช่น พายุเฮอริเคนดาเนียลที่พัดถล่มลิเบียตะวันออก เป็นต้น

พายุหมุนเกิดจากปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยหลักคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกซึ่งทำให้อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงกว่า 26 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายพลังงานให้กับพายุ ประกอบกับมีความชื้นในบรรยากาศและการหมุนเวียนของลมเป็นตัวเร่งให้เกิดการหมุนวนของอากาศ จนกระทั่งกลายเป็นระบบความกดอากาศต่ำที่เริ่มมีลมหมุนวนรอบๆ ศูนย์กลาง

การเกิดพายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนในช่วงเดือน พ.ค.ถึง พ.ย. โดยพายุหมุนเขตร้อนในไทยที่เคยเกิดขึ้นนั้นมักจะมีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น การพังทลายของบ้านเรือน การถูกกระแสน้ำพัดพา การขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่บางพื้นที่จะเผชิญกับอุทกภัยที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยมาจากสาเหตุฝนตกหนักในพื้นที่รอบข้างของประเทศ ซึ่งปีนี้จะเห็นได้ว่าฝนจะตกเป็นหย่อมๆ หรือ rain bomb โดยปีนี้พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่า พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปี 2567 จะอยู่ที่ 8.6 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 3,100 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 43,400 ล้านบาท (กรณีฐาน) ทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมรวมกันอยู่ที่ 46,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น -0.27% ของ GDP

ความเสี่ยงอุทกภัย 4 เดือนหลังของปี 67
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเผชิญสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตเกษตรเป็นจำนวนมาก

ช่วงครึ่งหลังปี 2567 (ก.ค.-ธ.ค.) คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าค่าปกติ5/ 15.0-16.0% ทำให้ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นมา ไทยเผชิญความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก แต่ยังเป็นความเสี่ยงที่ต่ำกว่าปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ปรากฏการณ์เอลนีโญระดับรุนแรงทำให้ไทยแล้งจัดและมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติถึง -17.1% จึงมีพื้นดินที่แห้ง และมีความสามารถในการกักเก็บหรืออุ้มน้ำในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำและความชื้นในดินสะสมที่สูงกว่ามาตั้งแต่ต้นปี

ปริมาณพายุ จากสถิติย้อนหลัง 73 ปี โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะมีพายุหมุนเขตร้อน (พายุดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น) ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ไทยราว 2-3 ลูกต่อปี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 1-2 ลูก และในปี 2567 คาดว่าไทยจะเผชิญพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนที่เข้ามารวม 1-2 ลูกซึ่งน้อยกว่ามหาอุทกภัยปี 2554 ที่มีพายุเข้าถึง 5 ลูก โดยช่วงที่ต้องเฝ้าระวังคือช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ที่ไทยจะต้องเผชิญภาวะฝนตกชุก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือซึ่งอยู่ในแนวเคลื่อนที่ของพายุ จึงอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง

อ้างอิง:
• Oct 9, 2024 . Global heating makes hurricanes like Helene twice as likely, data shows . Oliver Milman and Jonathan Watts, The Guardian
• พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclones) หนึ่งในภัยพิบัติที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่น เกิดจากอะไร?, UNHCR
• อุทกภัยปี 2567: ความเสี่ยง และผลกระทบ, วิจัยกรุงศรี

Copyright @2021 – All Right Reserved.