ปลัดบิน ฮ.สำรวจ ยัน ‘ป่าเชียงราย’ สมบูรณ์ ไม่ใช่ต้นเหตุดินโคลนถล่ม

by Chetbakers

ปลัดกระทรวงทรัพย์บิน ฮ.สำรวจเวียงป่าเป้า ยืนยันว่าป่าสมบูรณ์ ไม่ใช่สาเหตุดินโคลนถล่ม เตรียมประกาศพื้นที่เสี่ยงดินถล่มที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (CALO) ประจำปี 2567 ตอนหนึ่งว่า เพิ่งกลับจากไปตรวจราชการกับนายกฯ ที่เชียงราย เชียงใหม่ ปกติที่เชียงรายฝนมาแล้วก็ไป แม่สายท่วมมา 7-8 ครั้ง แต่ครั้งนี้หนักหนามาก เพราะเกิด rain bomb ที่ตกอยู่ที่เดียวกระจุกเดียว

“ถามว่าเอ๊ะ คนมันตัดไม้ทำลายป่าหรือเปล่า ผมบินดูหมดแล้ว เสร็จจากท่านายกฯ ผมก็ยก ฮ. (เฮลิคอปเตอร์) บินไปดูที่ อ.เวียงป่าเป้า ที่บ้านห้วยหินลาด ห้วยดินดำ ที่เห็นรูปมีโคลนไหลลงมา เราก็แปลกใจเอ๊ะมันแปลกเพราะสิ่งที่ดินสไลด์ลงมาเนี่ยมันเป็นจุดที่ป่าสมบูรณ์ เป็นรูปที่ชัดเจนผมถ่ายไว้หมด ผมกด ฮ.ไปดูใกล้ๆ”

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า จากเหตุที่เกิดขึ้นตรงกับที่กระทรวง ทส. กำลังประกาศพื้นที่อ่อนไหวเสี่ยงภัยสูงในประเทศไทยอีกครั้ง ครั้งแรกประกาศปี 2546-2547 ประมาณ 4,444 หมู่บ้าน แต่จากการประเมินใหม่โดยกรมทรัพยากรธรณีร่วมกับนักวิชาการที่นำตัวแปรต่างๆ มาพิจารณา 6 เดือนอย่างละเอียดพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงภัยที่ดินจะถล่มเพิ่มมากขึ้นมากกว่าเท่าตัว

“ผมได้พูดเรื่องการเตรียมการเรื่องสถานการณ์น้ำ พูดอยู่สองวันน้ำท่วมที่ภูเก็ต ตาย 10 กว่าคน ถัดมาที่แม่อาย ปีนี้มีน้ำท่วม ดินถล่ม ทุกประเทศประสบสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ต้องป้องกกันไว้ก่อน ไทยปล่อยก๊าซไม่ถึง 1% แต่ติดอันดับ 9 ของโลกที่เสี่ยง ต้องทำอย่างต่อเนื่องและอย่างเข้าใจด้วย”

ปลัดกระทรวงทรัพย์ กล่าวว่า ตนเองไปประชุม COP ตั้งแต่ปี 2552 สมัยเป็นรองอธิบดีจนเป็นปลัดกระทรวงในตอนนี้ ไปเกือบทุกครั้งและได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าประชุมอะไรในโลก ถ้าไม่พูดเรื่อง Climate change ถือว่าเชย จะต้องพูดเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน สิ่งที่ขับเคลื่อนมาถ้าไม่ได้ภาคเอกชนมันยากจริงๆ

“ผมเป็นเป็นกรรมการ ปตท.ด้วย ซึ่ง ปตท.ได้ช่วยในการแก้ปัญหา การที่ประเทศไทยไปตกลงกับยูเอ็นไว้ ถ้าลำพังภาคราชการมันยากมากที่จะไปสู่เป้าหมาย ทั้ง Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 เพราะระบบกติกายากมาก ยากไม่พอไหนจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องคาร์อบอนเครดิตคืออะไร โลกร้อนคืออะไร เพราะประชาชมองเรื่องอาชีพ กินอยู่อย่างไร เขามองมิติอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่ผิด

“แต่ภาพรวมของประเทศก็ต้องเดินควบคุู่กันไป รายเซ็กเตอร์ทั้งขนส่ง พลังงาน อุตสาหกรรมที่มาช่วยลด เราพยามทำตัวเลขและได้ส่งตัวเลขไปแล้วที่เราต้องรายงานไปที่ UNFCCC (กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ว่าเป้าหมายเราเป็นอย่างไร ปี 2030 เราบอกเราจะลด 40% ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงคาร์บอนซิงค์ (กักเก็บคาร์บอน) วันนี้มันก็ไม่ง่ายเพราะมันติดขัดหลายเรื่อง หลายเรื่องที่เราต้องดำเนินการ” 

นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้ได้พยามผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีความสำคัญ ซึ่งการที่เอกชนได้รับรางวาลผู้นำด้าานี้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่น การลดภาษี ไม่ใช่เป็นความภาคภูมิใจอย่างเดียว ถ้า พ.ร.บ.ออกมาทุกบริษัทจะเจอเหมือนกันคือการประเมินบริษัท จะเป็นภาคบังคับซึ่งไม่ง่าย กฎหมายนี้ถ้าไม่ทำจะมีภาคลงโทษ ซึ่งจะหนักหนาสาหัสสำหรับบริษัทในประเทศไทย

“ต้องขอบคุณเอกชนที่ทำเรื่องนี้ ผมพยายามมเอาเรื่องเข้าไปจัดการในภาคราชการผ่านกรมบัญชีกลางด้วยให้มีดีมานด์และซับพลาย ผมได้ลงนามซื้อคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่เพชรบุรีที่ ปตท.สผ.ร่วมกับอีกบริษัท ราคาประมาณ 10 บาท เพื่อไปออฟเซ็ต เป็นป่าชุมชน บริษัทที่ร่วมเขาทำมานานไม่นึกว่าจะสำเร็จ จึงต้องปรับระบบทั้งหมด ถ้าพรีเมียมต้องขายต่างประเทศได้ด้วย ไม่ใช่ขายในประเทศ ไม่ใช่แค่ซีเอสเออาร์ แต่ต้องมองเรื่องความมั่นคงยั่งยืนของทั้งองค์กรและประเทศด้วย

“ต้องปรับตรงนี้ให้หมด ให้เร็วด้วยเพราะเดี๋ยว พ.ร.บ. (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ออกมาจะไม่ทัน เอกชนท่องเรื่อง sustain มานาน แต่อะไรคือรูปธรรมที่ต้องทำ เราอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนเรื่องคาร์บอนเครดิต ผมตั้งศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้นทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าเป็น ผอ.ศูนย์ เชื่อหรือไม่ว่า จังหวัดที่ปล่อยก๊าซมากสุดคือสระบุรี และระยอง ปีหนึ่ง 20-30 ล้านตัน แม่ฮ่องสอนไม่มีโรงงาน เก็บออฟเซ็ตอย่างเดียว

“อยากให้มีการออฟเซ็ตกันระหว่างจังหวัดเหล่านี้ ทุกจังหวัดต้องคิดอย่างนี้ ซึ่งเวลาไปพูดต่างประเทศจะได้เห็นว่าไทยได้ทำไปถึงรากหญ้าแล้ว และในวันที่ประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 ในวันที่ 3-4 ต.ค.นี้ ภายในงาน Sustainability Expo (SX) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะนำผลการประชุมนี้ไปรายงานที่บากู (ประชุม COP29 ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย. 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน)”

ปลัดกระทรวง ทส. ย้ำว่า ปีนี้น้ำท่วมหลายจังหวัด ไม่ได้มาเพราะหน้าฝน ปีนี้น้ำเยอะ เชียงใหม่ไม่ได้ท่วมมานาน ก็ต้องฟื้นฟูให้มีการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ที่แม่สายดินโคลนเยอะ ถามว่าจะเกิดอีกไหม ซึ่งอนาคตมันก็ต้องมี ต้นน้ำอยู่เมียนมา ไหลพรวดมาแม่สาย ต้องคุยกันทั้งระบบ เพราะป่ามันเชื่อมโยงกันทั้งหมด มันสุ่มเสี่ยง ภาครัฐต้องดูทุกมิติ แต่ต้องยอมรับว่าเราเคลื่อนตัวได้ช้ากว่าภาคเอกชน

“ซึ่งขอบคุณเอกชนที่ร่วมกันทำให้ประเทศเข้าสู่เป้าหมายที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น ครั้งหน้าไปประชุม (COP) ที่บากูเขาอาจจะเพิ่มตัวเลขอีก 3% จาก 40 เป็น 43 ซึ่งอีก 3% ก็เหนื่อย แต่เราก็มีคำถามในใจว่า ประเทศใหญ่ๆ เขาทำกันหรือเปล่า ทำไมเราต้องทำ เพราะเราโดนกดจากอียูไหนจะ CBAM อเมริกาก็จะตั้งกำแพงภาษี ประเทศยักษ์ใหญ่ที่ปล่อยอันดับต้นๆ เขาทำอะไรบ้างหรือเปล่า เป็นคำถามที่ทุกคนจะไปถามประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เขาอาจจะตอบ ยูทำไป ฉันขายของ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ เพราะทุกคนในโลกมันต้องช่วยกัน

“…น้ำทะเลที่สูงขึ้น เลขาฯ สหประชาชาติบอกว่าโลกร้อน มันเป็นโลกเดือดแล้ว มันหนักหนาแล้ว แต่สิ่งที่ตามมาที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นผลสำคัญ ต้องช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะเร่งรัด พ.ร.บ.เข้าสภาให้เร็วสุด ตอนนี้รับฟังความเห็นจบแล้ว เหลือผ่านอนุฯ กฎหมาย และจะจัดประชุมรับฟังให้รอบด้านอีกครั้ง เข้าสู่ ครม.ไปกฤษฎีกา และเข้าสภา ซึ่งจะกระทบภาคเอกชน แต่ถ้าเตรียมการเรื่องการประเมินจะมีประโยชน์ ซึ่งเคยคุยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติว่าจะให้มี green loan ช่วยเอสเอ็มอี ซึ่งหลายธนาคารก็ดำเนินการ ถ้าทำทั้งระบบก็จะดีจะมีประสิทธิภาพ…” นายจตุพรกล่าว

สำหรับพิธีมอบโล่ CALO จัดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) ในฐานะฝ่ายเลขานุการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) 

 

Copyright @2021 – All Right Reserved.