ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากภาคเหนือ ป่าไม้ลดลงหรือ Climate Change?

by Chetbakers

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือครั้งรุนแรงมีสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่าใช่หรือไม่…หรือนี่คือการเขย่าขวัญจากภาวะโลกเดือด

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงราย และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน รวมทั้งในภาคอีสานมีสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่าใช่หรือไม่…ปริมาณป่าไม้ที่ลดลงคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งรุนแรงนี้ แล้วใครคือคนรุกป่าตัวจริง

เพื่อเข้าใจสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยในปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รายงานข้อมูลไว้ล่าสุดว่า จากปี 2566 ถึงปี 2567 ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากที่ปี 2565 มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่

สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงรายภูมิภาค มีดังนี้
ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่
ภาคกลาง มีพื้นที่ป่าไม้ 12,263,466.16 ไร่ หรือ 21.55% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 15,608,130.07 ไร่ หรือ 14.89% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 87,575.79 ไร่
ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าไม้ 20,033,806.37 ไร่ หรือ 58.86% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 49,667.70 ไร่
ภาคใต้ พื้นที่ป่าไม้ 11,232,880.27 ไร่ หรือ 24.34% ของพื้นที่ภูมิภาค เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 8,395.32 ไร่
ภาคตะวันออก มีพื้นที่ป่าไม้ 4,703,353.52 ไร่ หรือ 21.82% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 7,874.77 ไร่

ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ ได้มีการนำเทคนิคการซ้อนทับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแต่ละปี โดยทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ได้ 3 รูปแบบ คือ 1. พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น 2. พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และ 3. พื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นสาเหตุหลัก ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion) การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Plantation) หรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต

พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงสาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้

มูลนิธิสืบฯ ได้ระบุถึงประโยชน์ของป่าไม้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ประโยชน์ทางตรง และประโยชน์ทางอ้อม
ประโยชน์ทางตรง เช่น เนื้อไม้ เชื้อเพลิง วัตถุทางเคมี อาหาร ยารักษาโรค เส้นใยจากเปลือกไม้หรือเถาวัลย์ ชันน้ำมันและยางไม้ อาหารสัตว์ ฝาดฟอกหนัง และสีธรรมชาติ รวมทั้ง การกักเก็บคาร์บอนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

ประโยชน์ทางอ้อม เช่น ป่าไม้ทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป้องกันการพังทลายของดิน ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้ความชุ่มชื้น เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยรักษาคุณภาพของอากาศ รวมถึงช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกได้

จากที่กล่าวมามีประเด็นคำถามว่า สาเหตุของน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในภาคเหนือและอื่นๆ ในปีนี้นั้นมาจาก การตัดไม้ทำลายป่าใช่หรือไม่ ซึ่ง สนธิ คชรัตน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ใจความว่า ปล่อยปละละเลยให้มีการทำเกษตรกรรมบนภูเขาได้อย่างไร? ซึ่งเป็นสาเหตุหลักให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือรุนแรงในปีนี้

สนธิให้เหตุผล ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2528 เห็นชอบด้วยกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35% ขึ้นไปเป็นพื้นที่ป่าไม้โดยไม่อนุญาตให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35% ขึ้นไปเป็นพื้นที่ที่มีการชะล้างหน้าดินสูงไม่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม สมควรเป็นพื้นที่ป่าไม้และไม่อนุญาตให้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินซึ่งผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดินคือครอบครองมาก่อนอย่างถูกกฎหมายก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2497 หรือมีหลักฐานครอบครอง เช่น นส 3 ก หรือ สค.1

2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ14 (2) กำหนดให้พื้นที่เขา ที่ภูเขาและปริมณ ฑลรอบที่เขาหรือภูเขาระยะ 40 เมตร เป็นพื้นที่ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ ดิน (ได้มาก่อน 1ธ.ค. 2497)

3. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2538 กำหนดนิยามของ เขา หมายถึง ส่วนของพื้นที่ที่สูงจากบริเวณรอบๆ (Surrounding) น้อยกว่า 600 เมตร ปรากฎในแผนที่ว่าเป็นเขา พื้นลาดชันร้อยละ 20- 35 และที่ภูเขา หมายถึงส่วนของพื้นที่ที่สูงจากบริเวณรอบๆ (Surrounding) ตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไปพื้นที่ลาดชันมากกว่าร้อยละ 35

4. ผู้บุกรุกป่าที่ถูกจับในกรณีแผ่วถ้างหรือเผาป่า เพื่อที่จะได้ครอบครองที่ดินนั้นในเขตอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานต่างๆ ของประเทศไทยจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี หรือปรับสูงถึง 2 ล้านบาท นอกจากนี้ห้ามยึดถือ/ครอบครอง/ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัย/ก่อสร้าง/แผ้วถาง/เผาป่า/ทำไม้/เก็บหาของป่า หรือทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพ บทลงโทษ : จำคุก 1 – 10 ปี และปรับ 20,000 – 200,000 บาท

5. จากกฎหมายดังกล่าวประชาชนได้บุกรุกภูเขาไปปลูกพืช ทำเกษตรกรรมได้อย่างไร? หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลพื้นที่ยินยอมได้อย่างไร?..สุดท้ายฝนตกหนัก น้ำป่าจากภูเขาไหลเชี่ยวกราก พัดพาดินโคลนจากภูเขามาถล่มเมืองในพื้นที่ราบ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง เป็นต้นในปี 2567 เพราะทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โค่นป่า ปลูกพืชล้มลุกบนภูเขาทำผิดกฎหมายแต่เจ้าหน้าปล่อยปะละเลย

ประเด็นที่มากกว่า “การตัดไม้ทำลายป่า” ในภาคเหนือก็คือ แล้วทำไมเกิดอุทกภัยในยุโรปหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน

เมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาได้ภัยพิบัติน้ำท่วมในยุโรปตอนกลางและตะวันออกครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ อย่างเช่น สาธารณรัฐเช็ก หลังจากฝนตกหนักจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำของพายุบอริส เหตุการณ์เลวร้ายกว่าเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 1997 โดยต้องอพยพคนหนีน้ำถึงกว่า 10,000 คน

ด้าน โปแลนด์ ทหารต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เร่งอพยพประชาชนที่ตกค้างในพื้นที่ประสบภัย หลังจากหลายเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเผชิญน้ำท่วมจากฝนตกหนัก และต้องอพยพคนมากกว่า 1,600 คน

โรมาเนียก็ประสบชะตากรรมเดียวกันหลังเผชิญฝนตกหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 15,000 คน

ส่วนที่ออสเตรียก็เกิดเหตุน้ำท่วมหลังเผชิญฝนตกหนักเช่นเดียวกัน มีการประกาศเตือนให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่ เยอรมนี ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายทางตอนใต้ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นและเอ่อล้นตลิ่งในหลายจุด ทางการประกาศเตือนภัยระดับรองสูงสุด

นอกจากนี้ยังมีประเทศที่เผชิญอุทกภัยในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ ฮังการี และสโลวาเกีย ที่เผชิญกับฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. โดยทางการสโลวาเกียต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเมืองหลวง

ประเทศในยุโรปเหล่านี้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ฝนตกหนักและประสบอุทกภัยใช่หรือไม่ หรือที่สุดแล้วสาเหตุหลักมาจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่มีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินที่บรรยากาศโลกจะรับได้ ซึ่ง IPCC มีตัวเลขเป็นที่ประจักษ์ว่า ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือประเทศใดบ้าง สัดส่วนเท่าไหร่ และมาจากภาคส่วนไหนมากที่สุด…ใช่หรือไม่

 

 

Copyright @2021 – All Right Reserved.