น้ำท่วมเหนือ-อีสานแรงแซงปี 54 ต้น ต.ค.น้ำทะเลหนุนสูง กรุงเทพเสี่ยง

by Chetbakers

เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงราย และอีกหลายจังหวัดรุนแรงกว่าปี 2554 กรุงเทพฯ เสี่ยงสูงหากพายุซ้ำอีกลูก เตรียมตัวหนึ่งต้น ต.ค.น้ำทะเลหนุนสูงมากกว่านี้

หากนำตัวเลขพื้นที่น้ำท่วมใน จ.เชียงราย ในปี 2567 ในขณะนี้จำนวนพื้นที่ 153,000 ไร่ ทั้ง อ.แม่สาย และถูกซ้ำเติมอีกระลอกจากพายุซูลิกที่เกิดน้ำป่าไหลหลากที่ อ.เวียงป่าเป้า ความเสียหายจะสูงกว่าพื้นที่น้ำท่วมใน จ.สุโขทัย จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งได้รับเสียหาย 147,000 ไร่

ความรุนแรงน้ำท่วมปี 2567 จึงมีระดับความรุนแรงเทียบเคียงหรือสูงกว่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ด้วยซ้ำ แตกต่างกันตรงที่ปี 2554 มวลน้ำได้แผ่ขยายวงกว้างลงจากภาคเหนือสู่ภาคกลาง จนกระทบครอบคลุมพื้นที่ถึง 65 จังหวัด แต่ปี 2567 ฝนตกลักษณะ Rain bomb ซึ่งตกหนักเฉพาะจุดบางจังหวัด แต่ได้รับความเสียหายหนัก

ข้อมูลการคาดการณ์นี้ตอกย้ำโดย ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการบริษัท ทีมกรุ๊ป และนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ที่สะท้อนว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่ารุนแรงเทียบได้กับมหาอุทกภัยในปี 2554 แล้ว

ด้าน รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประเมินว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่แม่สายรุนแรงมากหนักกว่าปี 2554 เพราะปี 2554 คิดปริมาณฝนเป็นน้ำท่วมขนาด 50 ปี แต่ที่เชียงรายเป็นน้ำท่วม 100 ปี ฉะนั้นจึงรุนแรงกว่า

ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กลับมองเห็นอีกมุม โดยเขาบอกว่า จากการประเมินสถานการณ์อุทกภัยร่วมกับหลายหน่วยงานพบว่า สถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554 และ ปี 2565

อย่างไรก็ตาม หากเข้าเดือน ต.ค. พายุมาอีกลูกและเกิดฝนตกหนักซ้ำอีก อาจารย์ชวลิตระบุว่า สิ้นเดือน ต.ค. เขื่อนสิริกิติ์คาดว่าน้ำจะเต็ม เขื่อนแม่งัด เชียงใหม่ก็จะเต็ม เขื่อนแควน้อย พิษณุโลกก็เต็ม

ฉะนั้นหากพายุเข้าภาคเหนือและภาคภาคกลางตอนบนอีก กรุงเทพฯ จะมีความเสี่ยงแน่นอน โดยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค.น้ำทะเลจะหนุนสูง จากการประเมินของมูลนิธิถ้าฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางเพิ่มขึ้นมีโอกาสแตะน้ำท่วมปี 2565 จึงใช้ปี 2565 มาเป็นฐาน แต่หากประเมินว่าน้ำจะมากกว่า 10% หรือน้อยกว่า 10% ในกรณีบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจากการคาดการณ์ล่าสุดตามแบบจำลองพบว่าสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค.พายุจะก่อตัวขึ้นก็จะมีเวลาประมาณ 10 วัน ในการเตือนภัยล่วงหน้า

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ หากจะท่วมเหมือนปี 2554 จะต้องมีฝนตกในภาคเหนือมากกว่า 60% ของค่าเฉลี่ยปัจจุบัน โอกาสที่ฝนจะตกในช่วงปลาย ก.ย.และ ต.ค.ทั้งเดือนให้ได้มากกว่า 60% มีโอกาสน้อยมาก แต่การคำนวณความเป็นไปได้ที่จะท่วมอย่างน้อย 10% หรือมีความเสี่ยง 10% ซึ่งการประเมินความเสี่ยง 10% เรายอมรับไหมหรือมองว่าเล็กน้อย ก็ไม่ต้องทำอะไร

“แต่สำหรับผมในฐานะทำงานกับองค์กรบริหารความเสี่ยง ผมถือว่า 10% สูงมาก เพราะโอกาสน้ำท่วมเชียงรายที่แม่สายแค่ 1% เท่านั้น น้ำที่เคยท่วมภูเก็ตครั้งที่แล้วโอกาสเกิดแค่ 0.1% เวลาเกิดอะไรที่มันสุดขั้วประมาทไม่ได้ และ 10% ที่ว่าเมื่อปี 2554 ความเสียหาย 1.44 ล้านล้านบาท ขณะนี้ฝนตกภาคกลางเทียบได้กับปี 2565 แล้ว อีก 10 วันในเดือน ก.ย.และในเดือน ต.ค.มีโอกาสมากที่จะแซงปี 2565

“ฉะนั้นถ้าประเมินว่าน้ำท่วมเท่าปี 2554 โดยน้ำไม่หลากมาจากข้างบน แต่ฝนตกในพื้นที่ ถ้าฝนตกในกรุงเทพฯ ก็จะท่วมเหมือนที่เกิดที่ลาดกระบังต้องใช้เวลา5 – 7 วันในการระบายได้ ต้องติดตามสถานการณ์ว่าฝนจะบอมบ์ที่ไหน เป็นน้ำท่วมที่รอการระบาย”

นอกจากนั้นอาจารย์เสรีคาดการณ์ด้วยว่าในอนาคตกรุงเทพฯ จะจมน้ำ ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันเนื่องจากระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้กรุงเทพฯ อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1 – 1.5 เมตรอนาคตอีกประมาณ 80 ปี ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 1 เมตร ซึ่งจะขึ้นคราวละ 10 – 20 เซนติเมตร ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้นตัวเลขจะเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่าทันที นั่นคือกรุงเทพฯ เปราะบางมาก แม้อัตราการทรุดตัวของกรุงเทพฯ จะน้อยกว่ากรุงจาการ์ตาก็ตาม

ทางแก้มีแต่ไม่มีความคืบหน้า
บทเรียนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ กินระยะเวลายาวนานฝนตกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี มีพื้นที่ประสบภัย 65 จังหวัด ในปีนั้นสนามบินดอนเมืองตั้งอยู่ในเขตดอนเมืองด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วมจนไม่สามรรถให้บริการได้ ในภาพรวมน้ำท่วมปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนเดือดร้อน 13,425,869 คน ไม่รวมทรัพย์สินบ้านบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายอีกจำนวนมาก โดยธนาคารโลกประเมินว่ามีความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่า 1.44 ล้านล้านบาท

ดร.ชวลิต ระบุว่า ทางแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากผ่านปี 2554 มา 12 ปี มีการสร้างแก้มลิงขึ้น 10 แหล่ง รองรับน้ำขนาด 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไปสามารถปล่อยน้ำเข้าเก็บได้ขนาดพื้นที่มากกว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นอกจากนั้นยังมีการสร้างคลองระบายน้ำบางบาล และบางไทรใกล้แล้วเสร็จซึ่งสามารถระบายน้ำจากบางบาลลงมาที่บางไทรได้มากขึ้น

ทว่า แก้มลิงที่ว่ายังไม่พอ จำเป็นต้องขุดคลองผันน้ำจากชัยนาทไปลงลพบุรี ปทุมธานีเพื่อออกปากน้ำสมุทรปราการด้วย แต่การก่อสร้างทำไปแล้วเป็นส่วนส่วนยังต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 7 ปี

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ผ่านพ้นไป 12 ปี วันนี้ที่สุโขทัยมีการสร้างคลองผันน้ำเพื่อระบายน้ำ 560 ลูกบาศก์เมตรเพื่อปกป้องคนสุโขทัยและพิจิตร ไม่ให้น้ำผ่านตัวเมืองสุโขทัย แต่จะผันไปยังลุ่มน้ำน่าน ผ่านพิษณุโลกฝั่งตะวันตก แต่จนวันนี้การขุดคลองที่ว่าคืบหน้าแค่ 15% ต้องใช้เวลาอีก 3 ปี

ในขณะที่เชียงรายโดยเฉพาะ อ.แม่สาย ถูกน้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 สาเหตุมาจากฝนตกหนักในฝั่งเมียนมา ซึ่งพื้นที่ของแม่น้ำแม่สาย 80% อยู่ฝั่งเมียนมา และไหลมายังอยู่ฝั่งแม่สายฝั่งไทย 20% ฝั่งเมียนมาไม่มีสถานีวัดน้ำ และไทยก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยสร้างให้ได้เนื่องจากสถานการณ์สู้รบ ในขณะที่ญี่ปุ่นมาช่วยศึกษาเพื่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำเพื่อการเกษตรมา 10 ปี ยังไม่คืบหน้าเช่นกัน นอกจากนั้นจะก่อสร้างอ่างเก็บขนาดใหญ่ที่น้ำแม่น้ำกก อ.แม่อาย ก็ไม่คืบหน้า

สำหรับฝั่งไทยต้องจะต้องแก้ปัญหาการรุกล้ำริมแม่น้ำแม่สายที่ทำน้ำแม่น้ำแคบลง และทำให้น้ำไหลได้ช้า ดังนั้นจะต้องขอคืนพื้นที่ริมแม่น้ำแม่สายให้กลับมาเหมือนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว รวมทั้งแก้ปัยหาการรุกล้ำลำคลองใน กทม. ด้วย

ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าพายุเข้าซ้ำเดือน ต.ค.นี้ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชีจะรับไม่ไหวและอีสานจะรับน้ำเต็มๆ ฝนจะตกตั้งแต่อุบลราชธานีไปถึงชัยภูมิ การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงจะติดแก่งพิบูลมังสาหารขวางอยู่ ทางแก้ต้องขุดคลองอ้อมหรือลอดแก่งเพื่อลงแม่น้ำโขง แต่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ ฉะนั้นปีนี้อุบลฯ จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2565 อีก และถ้าพายุเข้าอาจจะท่วมนานถึง 2 เดือน

นี่คือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
อาจสรุปได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนวิกฤตโลกร้อนที่ชัดเจน เนื่องจากทำให้สถานการณ์ฝนตกไม่เหมือนเดิม ในไทยฝนจะตกมากขึ้น 7% และตกหนักมากเฉพาะบางพื้นที่ ไม่กระจายตัว เช่น ที่เชียงใหม่ตกซ้ำในเดือน พ.ค.ตกที่ อ.จอมทอง ระดับ 240 มิลลิเมตร และเดือน ส.ค.ตกที่ อ.แม่แตง 260 มิลลิเมตรแต่ทั้งสองจุดใกล้แม่น้ำปิงจึงระบายได้ทัน ที่ระยอง ตกระดับ 106 มิลลิเมตร แต่สร้างความเสียหายได้มาก

จากการเก็บข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาเกิดฝนตกหนักลักษณะ Rain bomb บ่อยครั้งมากขึ้น แต่ก่อนอาจจะ 10 ปีครั้ง แต่ปี 2564 เกิดสองครั้ง ปี 2565 ยังไม่มาก แต่ปี 2567 เช่นที่ จ.ภูเก็ตฝนตกหนักมาก ระดับ 354 มิลลิเมตร ใน 4 ชั่วโมง ถือว่ารุนแรงมากๆ ปกติพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทยฝนจะตกระดับ 200 มิลลิเมตร ซึ่งก็ถือว่าหนัก

ดังนั้นต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าฝนจะตกพื้นที่ไหนจะเตรียมการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างไร ซึ่งทราบว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะดำเนินการเรื่องนี้เพื่อส่งคำเตือนผ่านมือถือให้เหมือนที่ญี่ปุ่นทำ ตลอดจนการปรับปรุงสระเก็บน้ำประจำหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นแก้มลิง ส่วนในระยะยาวจะบูรณาการการแก้ปัญหาร่วมกันของหน่วยงานน้ำทั้ง 35 หน่วยงาน ซึ่งมีพระราชบัญญัติน้ำที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติใช้อยู่ แต่ปัจจุบันยังบูรณาการได้น้อย

รศ. ดร.เสรี ยำว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกแตะ 2 องศาเซลเซียส เมื่อไหร่ภายใน 10 ปีจะเกิดเหตุการณ์ภัยแล้ง 6 ปี จะเกิดน้ำท่วม 2 ปี และเป็นภาวะปกติแค่ 2 ปี ซึ่งในบ้านเราปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในอนาคต 20% แนวทางรับมือท่อระบายน้ำจะต้องกว้างขึ้นใหญ่ขึ้น เมื่อฝนเพิ่มขึ้นจะต้องหาพื้นที่ให้น้ำอยู่มากขึ้นตามไปด้วย เช่น เพิ่มแก้มลิง พื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ในชุมชนเมือง ในขณะที่ระดับสากลได้กลับไปหาธรรมชาติ นั่นคือ Nature Base Solution เพื่อให้ธรรมชาติช่วยลดผลกระทบมากที่สุด

นอกจากนั้นจำเป็นจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ การเตรียมแผนตอบโต้ และแผนการอพยพหนีภัย โดยระบบเตือนภัยสำคัญสูงสุด หากสามารถดำเนินการตามแผนเป็นลำดับจะช่วยลดความเสียหายลงได้ 30%

“ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งในยุโรปญี่ปุ่นหรือที่อื่นๆกำลังบอกว่าข้อตกลงปารีสเป็นไปได้ยาก เป็นหนทางที่คับแคบ เพราะเราจะจำกัดอุณหภูมิที่ 1.5 องศาในอีก 80 ปีมันก็ยากเพราะต่างคนต่างพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง โดยเลือกต้นทุนต่ำคือใช้พลังงานพลังงานฟอสซิล ลิกไนต์ต้นทุนต่ำมากก็ใช้ไป ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทุกคนก็ได้รับผลกระทบหมด ตรงไหนเป็นพื้นที่เปราะบางประเทศยากจนประเทศกำลังพัฒนาถ้าไม่มีกำลังก็เป็นอย่างสภาพที่เห็น ประเทศที่มีกำลังเขาป้องกันเขาใช้นวัตกรรมต่างกัน เราต้องใช้นวัตกรรมในการป้องกันป้องกันตัวเองเพราะเราหลีกเลี่ยงโลกที่ร้อนขึ้นเป็นไม่ได้แล้ว”

ล่าสุดกรมชลประทานออกประกาศว่า เนื่องจากปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่กำลังไหลลงมาสมทบที่ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อช่วงเวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,540 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานจำเป็นต้องทยอยปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจาก 1,099 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที ในช่วงเวลา 21.00 น. ของวันที่ 24 ก.ย. 2567 โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 15 ลบ.ม./วินาที โดยประมาณ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

การระบายน้ำในอัตราดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และชุมชนแม่น้ำน้อยบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือกับระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อไป

 
 

อ้างอิง:
23 ก.ย. 2567 . วิกฤตน้ำท่วมซ้ำซากไทยสูญ 12.6 ล้านล้าน (รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์), ทันโลกกับ Trader KP
13 ก.ย. 2567 . ตุลาคมนี้ กรุงเทพเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ ? ทำไมไทยยังแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ซักที ? (ชวลิต จันทรรัตน์), ทันโลกกับ Trader KP
23 ก.ย. 2567 . วิกฤตน้ำท่วม: หนักกว่าที่คิด! Suthichai live 23-9-2567, Suthichai Live
26 ส.ค. 2567 . น้ำท่วม 67 มวลน้ำน้อยกว่าปี 54 แต่ความเสียหายกลับมากกว่าในหลายจังหวัด เป็นเพราะอะไร, BBC ไทย
บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

 

Copyright @2021 – All Right Reserved.