การรับซื้อปลาหมอคางดำ 2 ล้านกิโลกรัม วงเงิน 30 ล้านบาท เพียงพอต่อการแก้ปัญหาปลาเอเลียนที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเดือดร้อนหรือไม่ นี่คือคำถาม
การรับซื้อปลาหมอคางดำ 2 ล้านกิโลกรัม วงเงิน 30 ล้านบาท พร้อมกับมาตรการอื่นๆ อีก 4-5 อย่าง ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดของปลาเอเลียนใน 16 จังหวัด และการนำเข้าพันธุ์สัตว์น้ำที่อื้อฉาวที่สุดของประเทศครั้งนี้แล้วหรือไม่ นี่คือคำถามที่ควรหาคำตอบกับทั้งบริษัท กรมประมง และรัฐบาล (ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข)
การรุกดับกระแสร้อนของ CPF โดย ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ในฐานะประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เมื่อ 23 ก.ค. ที่ได้ประกาศความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ปลาหมอคางดำ 5 โครงการ ประกอบด้วย ดังนี้
โครงการที่ 1 ร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมมือกับโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม และยังมีแผนรับซื้ออย่างต่อเนื่อง (รับซื้อตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา)
โครงการที่ 2 ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมามีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 45,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี
โครงการที่ 3 ร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัทได้ร่วมกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง ทีมแม่กลองปราบหมอคางดำ” ที่สมุทรสงครามแล้ว 4 ครั้ง เป็นต้น และจะดำเนินการในทุกจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง
โครงการที่ 4 การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
โครงการที่ 5 ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป
ทั้ง 5 โครงการ ที่ผู้บริหาร CPF แจกแจงมานั้นเป็นสูตรสำเร็จที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว…เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องตรงจุดใช่หรือไม่ และนี่คือบทสรุปของมหากาพย์ปลาหมอคางดำแล้วใช่หรือไม่ ตลอดจนสังคมไทยควรทำความเข้าใจกับบทเรียนราคาแพงนี้อย่างไรบ้าง ..หรือไม่?
1. การรับซื้อปลาหมอคางดำทั่วประเทศที่มีการระบาดของ CPF ครั้งนี้จะใช้เงินประมาณ 30 ล้านบาท (กก.ละ 15 บาท) ในการแก้ปัญหา กล่าวได้ว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายของเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ระบาด 16 จังหวัด ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (เกิดเหตุมา 14 ปี) เว้นแต่เม็ดเงินจำนวนนี้สามารถทำให้พันธุ์ปลาหมอคางดำหายไปจากระบบนิเวศได้จริงๆ
2. เทียบเคียงเม็ดเงินที่ CPF ใส่ลงมา กับสถานการณ์ผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา (2555 – 2564-กรมประมง) พบว่า มีผลผลิตจากการทำการประมงเฉลี่ย 1,580,596 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 67,831 ล้านบาทต่อปี โดยผลผลิตมีแนวโน้มลดลงอัตราร้อยละ 2.40 ต่อปี ส่วนมูลค่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 1.77 ต่อปี ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากการทำการประมงทะเลเฉลี่ย 1,413,911 ตันต่อปี (ร้อยละ 89.45) คิดเป็นมูลค่า 58,355 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 86.03) และเป็นผลผลิตที่ได้จากการทำการประมงน้ำจืดเฉลี่ย 166,684 ตันต่อปี (ร้อยละ 10.55) คิดเป็นมูลค่า 9,477 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 13.97)
3. ข้อมูลประมาณการล่วงหน้า ปี 2565 – 2568 ผลผลิตมีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 2.21 ส่วนมูลค่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.43 ต่อปี โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 2,556,800 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 160,743 ล้านบาทต่อปี ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากการทำการประมงเฉลี่ย 1,580,596 ตันต่อปี (ร้อยละ 61.82) คิดเป็นมูลค่า 67,831 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 42.20) และผลผลิตจาการเพาะเลี้ยงเฉลี่ย 976,205 ตันต่อปี (ร้อยละ 38.18) คิดเป็นมูลค่า 92,911 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 57.80)
4. การทำประมงของไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาอยู่ใน “ภาวะวิกฤต” เพราะแหล่งประมงมีความเสื่อมโทรมและมีการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ (Overfishing) กรมประมงจึงได้ดำเนินการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำ การดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย (Marine Fisheries Management Plan of Thailand, FMP) พ.ศ. 2563 – 2565 แผนการจัดการปะการังเทียมของประเทศไทย และแผนปฏิบัติการด้านการประมงน้ำจืดระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2564- 2565) รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการด้านการบริหารจัดการประมงอย่างเคร่งครัด
เช่น มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน (มาตรการปิดอ่าว) มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน (ฤดูน้ำแดง) การทำการประมงที่ปลอดจากการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU fishing) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานวิจัยเพื่อใช้สนับสนุนในการกำหนดนโยบายการทำการประมงให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืน
5. มาตรการที่กรมประมงดำเนินการมาทั้งหมดจะสรุปว่าพังพาบเพราะปลาหมอคางดำก็คงไม่ผิด ดังนั้นต้องถอดบทเรียนจากการอนุญาตให้เอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำจากแอฟริกา (อนุญาตนำเข้าตามมติคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ IBC เมื่อ 21 พ.ย. 2549) แต่กรมประมงโดย IBC มาอนุมัติเมื่อ ธ.ค. 2553 มีวัตถุประสงค์การนำเข้าเพื่อปรับปรุงพันธุ์ เพื่อป้องกันโรค เพื่อเลี้ยงทนเค็ม และเพิ่มผลผลิต โดยจำนวนที่ได้อนุญาตให้นำเข้า 2,000 ตัว และไปเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มใน จ.สมุทรสงคราม
6. คำอธิบายเกี่ยวจำนวนปลา 2,000 ตัวนี้มีความคลุมเครือ โดยเมื่อ 16 ก.ค. 2567 เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจาก CPF ได้แถลงตอนหนึ่งว่า บริษัทมีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2553 ถึงวันทำลาย (ปลาตาย) ในเดือน ม.ค. 2554 ยืนยันว่า “เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรงจึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554”
7. คำอ้างว่าปลาตายเกือบหมด เหลือแค่ 50 ตัวนี้เองที่กรมประมงเองก็กังขา เพราะกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่ปรากฎหลักฐานที่ทางบริษัทต้องทำตามเงื่อนไขการนำเข้า นั่นคือการส่งหลักฐานให้กรมประมง ซึ่ง บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ออกมายืนยันว่า ไม่มีหลักฐานการส่งมอบซากตัวอย่างปลาหมอคางดำ และเมื่อไปตรวจสอบไทม์ไลน์ “สมุดคุม” การรับพัสดุ “สมุดคุม” การจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอปลาหมอคางดำก็ไม่พบหลักฐานใดๆ
8. อธิบดีกรมประมงกล้าท้าในประเด็นนี้ว่า “ถ้าเอกชนมีเอกสารก็ต้องเอาข้อเท็จจริงมาแถลง เพื่อพิสูจน์ ของอย่างนี้เขาพิสูจน์กันได้ แต่เอกชนต้นเรื่องต้องพิสูจน์ให้ได้ กรมประมงถ้าเรามี เราก็ต้องเอาไปพิสูจน์ให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่สังคมถามหา และอยากให้เกิดข้อเท็จจริงขึ้นให้ได้” คำกล่าวของอธิบดี เป็นคำถามเดียวกับที่ประชาชนสงสัย และอยากได้คำอธิบาย…และยังต้องการทราบอีด้วยว่า ปลาหมอที่เพาะเลี้ยงที่ศูนย์ทดลอง ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เล็ดลอดออกสู่คลองสาธารณะหรือไม่ อย่างไร (เพราะปลาที่เพาะเลี้ยงเพื่อปรับปรุงพันธุ์ตายหมด) และที่บอกว่านำปลายที่ตายไปฝังนั้น…หลักฐานอยู่ที่ไหน?
9. สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนหน้านี้กรมประมงได้มีการปล่อยปลานักล่าไปจัดการปลาหมอคางดำตามธรรมชาติ เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง นอกจากนั้นจะทำวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4 N โดยการเปลี่ยนโครโมโซมให้ปลาหมอคางดำเป็นหมันเพื่อช่วยลดการแพร่พันธุ์ ขั้นตอนเหล่านี้ยังต้องติดตามความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในอีกพักใหญ่
10. สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวคงต้องออกกฎหมายมาควบคุมในทุกแง่มุม เพื่อกำหนดโทษทางอาญา และโทษปกครองให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากปลาหมอคางดำไม่ใช่เอเลียนตัวแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ขณะเดียวกันยังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในการเลี้ยงปลา และความสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศด้วย
อ้างอิง:
24 ก.ค. 2567 . CPF ประกาศรับซื้อ “ปลาหมอคางดำ” 2 ล้านกก. ให้ราคากิโลกรัมละ 15 บาท . PPTV Online
16 ก.ค. 2567 . กรมประมง ยันไม่พบข้อมูลส่งตัวอย่างนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” . ThaiPBS Online
16 July 2024 . ‘ปลาหมอคางดำ’ เอเลียนอันตราย ที่ ‘ตัวร้าย’ ไม่ต้องรับผิดชอบ? . Igreenstory
19 ก.ค. 2567 . ดีเดย์ปล่อยปลากะพงล็อตแรก 9 หมื่นตัวปราบ “หมอคางดำ” . ThaiPBS Online
เครดิตภาพ: สาระวิทย์ สวทช.