ประกาศซ้ำ ‘วันปลอดถุงพลาสติก’ ภายในปี 70 รีไซเคิล 100%

by Chetbakers

“พัชรวาท” ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับผู้ประกอบการใน “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” 3 ก.ค. หนุนเอกชนชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

กระทรวงทรัพย์ร่วมรณรงค์เนื่องใน “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” โดยประกาศให้ทุกหน่วยงานร่วมกันส่งเสริมการลด หรือเลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางหรือถุงก๊อบแก๊บ, ถ้วยหรือแก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก รวมทั้งสนับสนุนให้มีการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกร้อยละ 100 ภายในปี 2570 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Net Zero ปี 2065

วันที่ 3 ก.ค. 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมาย นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. เป็นประธานการจัดกิจกรรมวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) 2024 เพื่อยกระดับสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

โกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ทส. โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในวันปลอดถุงพลาสติกสากล โดยนายโกเมนทร์ กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท มีความห่วงใยถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นผลพวงมาจากกิจกรรมการบริโภคของมนุษย์ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ จึงได้มีการกำหนด Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561- 2573 ซึ่งมีเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ยกระดับให้เท่าทันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินการที่จะนำไปสู่เป้าหมายตามที่ประเทศไทยกำหนดไว้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ดังนั้น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงจัดกิจกรรม “ประกาศเจตนารมณ์ ยกระดับการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Net Zero 2065” ในวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน จำนวน 45 หน่วยงาน

ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ 23 บริษัท ผู้ประกอบการ ร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 13 บริษัท/แห่ง และเครือข่ายสมาคมฯ และหน่วยงานสนับสนุน 9 องค์กร รวมเป็น 31,637 สาขา ทั่วประเทศ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ร่วมกันลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

พร้อมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาทดแทน และนำทรัพยากรกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด รวมถึงส่งเสริมการบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในโอกาสเดียวกันนี้ ขอเชิญชวนทุกหน่วยงานร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อนำไปสู่บรรลุเป้าหมายความร่วมมือที่สำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย 1. ร่วมกันส่งเสริมการลด หรือเลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ประเภท ได้แก่ “ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางหรือถุงก๊อบแก๊บ” “ถ้วยหรือแก้วพลาสติก” และ “หลอดพลาสติก”

2. สนับสนุนให้มีการรวบรวมผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 3.สร้างความรู้ความเข้าใจ รณรงค์ให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ลดปริมาณขยะที่ต้นทาง สนับสนุนการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Net Zero 2065 และขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยปกป้อง ดูแล รักษาโลกใบนี้ และส่งต่อบ้านที่น่าอยู่และแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ให้กับลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) โดยมีการชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนของงานจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ทำให้การจัดงานครั้งนี้มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

*******************

มติ ครม.ห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิดตั้งแต่ปี 65
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวง ทส. เสนออนุมัติแผน ลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก เตรียมประกาศห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ โฟม ถุงหิ้ว แก้ว และหลอดพลาสติก แบบเด็ดขาดในปี 2565 พร้อมตั้งเป้าให้พลาสติกอีก 7 ชนิด เข้าสู่ระบบเศรษกิจหมุนเวียนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50%

มติ ครม.ดังกล่าว ประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563 – 2565) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งดำเนินการ ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573

2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่สำคัญและต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในช่วง 3 ปีแรก (ปี พ.ศ. 2563 – 2565) เพื่อก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)

กรอบแนวคิด
• หลักการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต (Life Cycle) ตั้งแต่การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการออกแบบและการผลิต โดยการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และการจัดการพลาสติกหลังการบริโภค

• หลักการ 3R ประกอบด้วย การลดการใช้ (Reduce) ที่แหล่งกำเนิดในขั้นตอน การออกแบบ การผลิต และการบริโภค โดยการลดปริมาณการใช้ลงโดยใช้เท่าที่จำเป็น การใช้ซ้ำ (Reuse) โดยการนำของเสียบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้อีกโดยไม่แปรรูปหรือแปรสภาพ และการนำมาแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) เป็นการนำขยะรีไซเคิล ของเสีย บรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หรือเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

• หลักการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน (Public Private Partnership) โดยทุกภาคส่วนต้องเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติก

• หลักการว่าด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การจัดการขยะพลาสติกให้เกิดความยั่งยืน มุ่งเน้นให้มีการสร้างของเสียที่ต่ำที่สุดหรือไม่มีเลย ด้วยการนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

• หลักการผู้ผลิตมีส่วนร่วม (Responsible Consumption and Production) โดยผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้หลักการที่ถือว่าต้นทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเป็นต้นทุนของสินค้าด้วย ผู้ประกอบการจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการของเสียที่เกิดจากสินค้า

เป้าหมาย
เป้าหมายที่ 1 : การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 100 ภายในปี 2565 ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม (3) แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ (4) หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น (ในปีฐาน 2562 รวมการใช้พลาสติก 3 ประเภทอยู่ที่ 384,024 ตัน ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว)

เป้าหมายที่ 2 : การนำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี 2565 ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP) (2) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE) (3) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) (4) ฝาขวด (5) แก้วพลาสติก (6) ถาด/กล่องอาหาร และ (7) ช้อน/ส้อม/มีด (ในปีฐาน 2562 รวมการใช้พลาสติก 7 ประเภทอยู่ที่ 1,341,668 ตัน เป้าหมายนำกลับไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 หรืออยู่ที่ 670,834 ตัน)

มาตรการ
มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ/ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ รับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพลาสติกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงทั้งประเทศ

มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมให้ประชาชนลด และคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก และจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับพื้นที่ฝังกลบและกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก ได้ประมาณ 2,500 ไร่ โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน

Copyright @2021 – All Right Reserved.