เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ศาลปกครองเชียงใหม่ โดยนางสาวพิชญ์ณัฏฐ์ คันธารัตนกุล ตุลาการผู้แถลงคดี อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 2/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 2/2566 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ระหว่าง นายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี กับ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
โดยศาลปกครองระบุว่า นายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่สั่งการปล่อยปละละเลย ไม่มีความจริงใจห่วงใยประชาชนในภาคเหนือที่เข้ามาสูดดมควันหรือฝุ่นละออง ไม่ทำการประกาศให้เชียงใหม่ที่มีปัญหา เป็นเขตภัยพิบัติ ซึ่งปัจจุบันประกาศเพียง 3 ตำบล เพราะมัวเมาแต่คำนึงการท่องเที่ยว หารู้ไม่ว่ายิ่งไม่ประกาศยิ่งทำให้การท่องเที่ยวซบเซา นอกจากนี้ยังยิ่งเฉยต่อปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566
ซึ่งนายวสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สั่งให้ 1)กรมฝนหลวงและการบินเกษตรทำฝนหลวงเพื่อดับควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เพื่อให้ฝุ่นเบาบางลง 2)ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหาเป็นเขตภัยพิบัติทั้งจังหวัดและอย่านิ่งเฉยต่อปัญหา PM2.5 3) ให้ PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติอันดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหา และ4)ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้หมดสิ้นไป (ของทุกปี) โดยจัดทำประกาศเขตจังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติเพื่อให้หน่วยงานสามารถใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาได้
ทั้งนี้ จากการไต่สวนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาระบุว่า เนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจริง ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จนเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ ตามคำชี้แจงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตที่ 1 เชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
กรณีจึงเชื่อได้ว่าปัญหา PM2.5 เกิดขึ้นจริงในท้องที่เชียงใหม่ และมีแนวโน้มที่ร้ายแรงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีและจะยังคงมีต่อไปในอนาคตหากไม่ได้รับการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ซึ่งเป็นสาธารณะภัยระดับที่ 4 สาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง
กรณีปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพอากาศ เช่น ความชื้นในอากาศ ความทรงตัวของอากาศ ทิศทาง และความเร็วลม เป็นสำคัญ จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดบังคับได้
สำหรับกรณีประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติทั้งจังหวัด ด้วยประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ต้องเป็นนไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกทั้งยังต้องพิจารณาเกี่ยวกับเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน การจะประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าบังคับข้าราชการฝ่ายบริหาร โดยศาลไม่อาจไปใช้อำนาจดังกล่าวแทนฝ่ายปกครองได้ กรณีจึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดบังคับได้
จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใด เพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขมลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่ในค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมากหรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อ่านคำพิพากษา คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีฝุ่น PM 2.5