การศึกษาพบ 99.82% ของพื้นที่โลก มีค่า PM2.5 รายวันเกินมาตรฐาน

การศึกษาใหม่พบว่ามีเพียง 0.18% ของพื้นที่โลกและ 0.001% ของประชากรโลกเท่านั้นที่สัมผัสระดับ PM2.5 ต่ำกว่า 15 มคก./ลบ.ม. ตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ PM2.5 ใหม่ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

จากการรวบรวมข้อมูลบนภาคพื้นดินที่รวบรวมจากสถานีตรวจวัดกว่า 5,000 แห่งทั่วโลก ผสานกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และแบบจำลองมลพิษทางอากาศเพื่อประเมินความเข้มข้นของ PM2.5 รายวันทั่วโลกในปี 2019

พบว่ามากกว่า 70% ของทั่วโลก ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในรายวัน สูงกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (Word Health Organization) แนะนำ

โดยภูมิภาคที่น่าเป็นห่วงคือ เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกที่มากกว่า 90% มีความเข้มข้นของ PM2.5 รายวันเกินค่ามาตรฐาน 

ความเข้มข้นสูงสุดเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉลี่ยอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. รองลงมาคือเอเชียใต้ ที่ 37 มคก./ลบ.ม.และแอฟริกาตอนเหนือที่ 30 มคก./ลบ.ม.

ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เผชิญกับภัยคุกคามจาก PM2.5 น้อยที่สุด ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ในโอเชียเนียและอเมริกาตอนใต้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 ต่ำที่สุดเช่นกัน

ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแทบจะไม่มีที่ใดในโลกที่มีอากาศปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีเพียง 0.001% ของประชากรโลกเท่านั้นที่หายใจเอาอากาศสะอาดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่า 99.82% ของพื้นที่บนโลกมีระดับ PM2.5 สูงกว่าขีดจำกัดความปลอดภัยต่อสุขภาพที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งเชื่อมโยงต่อโรคมะเร็งปอดและโรคหัวใจ 

“การสัมผัส PM2.5 ในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ หากเราสามารถทำให้ทุกวันมีอากาศบริสุทธิ์ แน่นอนว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศในระยะยาวจะดีขึ้น” Yuming Guo หัวหน้านักวิจัยและศาสตราจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย Monash กล่าว 

นอกจากนี้ได้ตรวจสอบมลพิษทางอากาศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2000 ถึงปี 2019 พบว่าค่าเฉลี่ย PM 2.5 ทั้งปีทั่วโลกอยู่ที่ คือ 32.8 มคก./ลบ.ม.

พื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชีย ทางตอนเหนือและตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา โอเชียเนีย และละตินอเมริกาและแคริบเบียนประสบกับความเข้มข้นของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้น 

ในขณะที่ความเข้มข้นของ PM2.5 ในยุโรปและอเมริกาตอนเหนือมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากกฎระเบียบควบคุมการใช้ยานพาหนะ การป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า รวมไปถึงการควบคุมละอองซัลเฟตจากการผลิตกระแสไฟฟ้า

การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นถึงระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่แปรผันตามฤดูกาล ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของกิจกรรมของมนุษย์ที่เร่งให้เกิดมลพิษทางอากาศ 

เช่น จีนตะวันออกเฉียงเหนือและอินเดียเหนือมีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับการใช้เครื่องกำเนิดความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว

ในทางกลับกัน ประเทศในอเมริกาใต้ เช่น บราซิล มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการเพาะปลูกแบบเฉือนแล้วเผาในช่วงฤดูร้อน

การศึกษานี้ได้รับการตรวจสอบและตีพิมพ์ลงนิตยสาร Lancet Planetary Health 

ที่มา

March 7, 2023. Study into global daily air pollution shows almost nowhere on Earth is safe. ScienceDaily.

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย