ผลงานชัชชาติ 60 วัน แก้ปัญหา 6 ด้าน รวมทั้งเร่งจัดการปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ กทม. โดยได้ลอกท่อแล้วเสร็จ 2,400 กิโลเมตรจากเป้าที่วางไว้ 4,630 กม. ขุดลอกคลองด้วยการเอาเลนออกไปแล้ว 27 กม. และจะทำทั้งหมดอีก 98 กม.
นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และโฆษก กทม. แถลง “ผลการดำเนินงาน 60 วัน และการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 ว่า ผลการดำเนินงานมี 6 มิติ มิติที่ 1 เรื่อง สาธารณสุข มิติที่ 2 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ มิติที่ 3 เรื่อง เมืองสร้างสรรค์ มิติที่ 4 เรื่อง ฟื้นเศรษฐกิจเมือง มิติที่ 5 เรื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา และมิติที่ 6 เรื่อง การปลูกต้นไม้
มิติที่ 1 สาธารณสุข:
กทม.ได้ปรับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดเดิม (ศบค.กทม.) ให้เป็นศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Emergency Operations Center : BHEOC) โดยดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพทุกรูปแบบ มีเป้าหมายแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบกับวิกฤตสาธารณภัย ภัยพิบัติ การแพร่ระบาดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
มิติที่ 2 การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและการต่อต้านทุจริต:
– การเปิดสัญญาสัมปทาน BTS เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 65 มีการเปิดสัญญาจ้างระหว่าง กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในส่วนสัญญาจ้างบริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร และบันทึกข้อตกลงการมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของ กทม. โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2
-การเปิดเผยคำสั่งต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อความโปร่งใส และเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด สามารถตรวจสอบและดูรายละเอียดได้ที่ https://main.bangkok.go.th/ หัวข้อ open data
– กล้องวงจรปิด (CCTV) ทั่ว กทม. มีทั้งหมด 62,000 กล้อง ขณะนี้ กทม.ได้เปิดให้มีการขอภาพจากกล้อง CCTV ของ กทม.ทางออนไลน์ด้วยตนเอง และสามารถขอดูภาพย้อนหลังได้ภายใน 24 ชม. ผ่าน 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK
– การประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต 5 ข้อ (Quick Win) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 กทม. ได้ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้บริหาร กทม. ในการต่อต้านทุจริต “ไม่เฉย ไม่ทำ และไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ” สอดคล้องกับนโยบาย 216+ นโยบาย “ลดเสี่ยงโกงผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่ายประชาชน” และ “โปร่งใส ไม่ส่วย”
มิติที่ 3 เมืองสร้างสรรค์:
– เริ่มที่เทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งเป็นนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล โดยฉายภาพยนตร์ให้ประชาชนได้ชมฟรี เปิดตัวกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 65 ในรอบ 1 เดือนนี้ฉายภาพยนตร์ไปทั้งสิ้น 26 เรื่อง จำนวนผู้เข้าชมงานโดยประมาณ 88,368 คน ร้านค้าจำหน่ายสินค้า 345 ร้าน ประมาณการรายรับของร้านค้าโดยรอบ รวม 4,330,865 บาท
– การประชันวงศ์ดุริยางค์นัดกระชับมิตรระหว่างตัวแทนนักเรียนใน กทม. และตัวแทนนักเรียนจาก จ.นครราชสีมา ณ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 65 เป็นการเปิดเวทีส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงฝีมือด้านดนตรีและศิลปวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจเมือง และการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองเมือง เปิดโอกาสให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กทม.จัดงานโดยไม่ต้องใช้ออแกไนเซอร์
– งานดนตรีในสวนได้จัดกิจกรรมตั้งแต่เดือน มิ.ย. และยังมีจัดอยู่ต่อเนื่อง โดยตลอดเดือน ก.ค. 65 มีการจัดกิจกรรมดนตรีในหลากหลายสถานที่ รวมจำนวน 21 วัน 53 ครั้ง
– นโยบาย co-working space มีการปรับให้ 12 ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ กทม. มีพื้นที่สำหรับการทำงานด้วย
– สำหรับ 12 เทศกาล ในเดือน ส.ค. นี้ เป็นเทศกาล “บางกอกวิทยา” ซึ่งเป็นการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เป็นส่วนหนึ่งของทุกคนในเมือง มีกิจกรรมออกไปตามชุมชน ที่สำคัญคือส่งเสริมให้เด็ก ๆ สนใจและชอบวิทยาศาสตร์มากขึ้น สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ผ่านเพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์”
มิติที่ 4 ฟื้นเศรษฐกิจเมือง:
กทม. โดยสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต ได้เริ่มการจ้างงานคนพิการเป็นอาสาสมัครปฏิบัติงานในสำนักพัฒนาสังคม และ 27 สำนักงานเขตแล้วจำนวน 95 คน กลางเดือน ส.ค.นี้จะเพิ่มมาอีก 20 คน รวมเป็น 115 คน โดยตั้งเป้าจ้างงานคนพิการหน่วยงานละ 6 คน รวม 306 คน ในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 65
– กิจกรรมถนนคนเดินได้ดำเนินการในหลายเขต เช่น สาทร บางรัก และสำรวจพื้นที่จัดกิจกรรมถนนคนเดินในย่านสร้างสรรค์ 15 ย่าน พร้อมทั้งพัฒนาโครงการกรุงเทพอาหารริมทางอร่อยปลอดภัย Bangkok Safety Street Food โดยเริ่มจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ
– เป้าหมายคือจะยกระดับ Street food และพัฒนาคุณภาพอาหารของร้านอาหารที่มากกว่า 20,000 ร้าน โดยจัดกลุ่ม Street food เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ตลาดในชุมชน 2. ตลาดในเมือง 3. ตลาดนักท่องเที่ยว
มิติที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการบริการและแก้ไขปัญหา:
ในเดือน ก.ค. 65 มีผู้ใช้ Traffy Fondue รายงานปัญหา 113,881 เรื่อง โดย 5 ปัญหาร้องเรียนมากที่สุด (ไม่รวมปัญหาอื่นๆ) ได้แก่ ถนน 19.1% น้ำท่วม 6.8% ทางเท้า 5.7% แสงสว่าง 5.6% และความปลอดภัย 4.9% ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา สำเร็จ 47% กำลังแก้ไข 19% ส่งต่อหน่วยงานแล้ว 30% รอรับเรื่อง 1% ที่สำคัญมีหัวข้อกรุงเทพฯ โปร่งใส สำหรับร้องเรียนเรื่องทุจริต
นอกจากนี้ ยังได้ขยายศูนย์ One Stop service 50 เขต ปัจจุบันมี 16 สำนักงานเขตที่มีศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด (BANGKOK FAST & CLEAR ) หรือศูนย์ BFC ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ที่จะให้บริการจบที่เขตจุดเดียว โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งให้อีก 34 เขตที่เหลือดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี รวมทั้งให้ปรับการบริการเป็นดิจิทัลมากที่สุด
มิติที่ 6 การปลูกต้นไม้:
โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ณ วันที่ 3 ส.ค. 65 มีการปลูกต้นไม้ตามโครงการฯ ไปแล้วทั้งหมด 82,248 ต้น แบ่งเป็นไม้ยืนต้น 27,186 ต้น ไม้พุ่ม 45,818 ต้น ไม้เลื้อย 9,244 ต้น ยอดจองปลูกต้นไม้ 1,641,360 ต้น ประชาชนสามารถบันทึกการปลูกต้นไม้ที่ตนเองปลูกและติดตามการเติบโตของต้นไม้ได้ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ “ปลูกอนาคต” (Line @tomorrowtree)
การเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงสถานการณ์น้ำและการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ กทม. ว่า ปัจจุบัน กทม.มีท่อระบายน้ำยาว 6,564 กิโลเมตร ตั้งเป้าลอกท่อไว้ที่ 4,630 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,400 กิโลเมตร ส่วนการขุดลอกคลอง 1,980 คลอง ความยาว 2,745 กิโลเมตร ได้ดำเนินการลอกคลองเอาเลนออก 27 กิโลเมตร และจะทำทั้งหมดอีก 98 กิโลเมตร ตามแผนของสำนักการระบายน้ำ ขณะที่การลอกคลองเปิดทางน้ำไหลโดยสำนักงานเขต ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1,500 กิโลเมตร
สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. มี 4 แห่ง ความยาว 19 กิโลเมตร ได้แก่ อุโมงค์ประชาราษฎร์ สาย 2 อุโมงค์คลองบางซื่อ อุโมงค์คลองแสนแสบ และอุโมงค์บึงมักกะสัน ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์คลองเปรมประชากร อุโมงค์คลองทวีวัฒนา อุโมงค์คลองแสนแสบส่วนต่อขยาย และอุโมงค์บึงหนองบอน คาดว่าจะมีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 152 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนสถานีสูบน้ำมี 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 316 แห่ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมขังใน กทม. สำหรับการระบายน้ำในถนนสายหลัก จะมีเซนเซอร์รายงานน้ำท่วม แต่ในซอยย่อยจะไม่มี จึงต้องอาศัยข้อมูลจากการรายงานเหตุของประชาชนผ่าน Traffy Fondue
ทั้งนี้ สำนักระบายน้ำได้ปรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.จาก 9 จุด เหลือ 7 จุดแล้ว ปัญหาที่พบคือ การปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการเฝ้าระวังจุดน้ำท่วมซ้ำซากในถนนสายรอง ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมายังมีความล่าช้า