หมึกยักษ์ยาว 3 เมตร โผล่ริมชายหาดญี่ปุ่น สัญญาณเตือนอะไรหรือไม่?

ปกติแล้วหมึกยักษ์ขนาด 3 เมตรจะอยู่ในทะเลลึกมาก แต่จู่ ๆ เมื่อเช้าวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมานี้ ชาวเมืองโอบามะ จังหวัดฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่นก็พบกับปลาหมึกยาว 3 เมตรมาเกยตื้นที่บริเวณชายหาด

เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองโอบามะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องปกติที่หมึกยักษ์จะมาเกยตื้นริมชายหาดทั้งที่ยังเป็น ๆ แต่ต่อมามันตายไปเพราะอ่อนแอมาก และได้ถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในท้องถิ่นแล้ว

ชาวประมงในท้องที่ก็ยังตื่นเต้น เขาบอกกับ Livedoor สื่อในญี่ปุ่นว่า เขาเคยเจอแบบนี้มาครั้งหนึ่ง แต่มันขาวไปหมดทั้งตัวและตายไปแล้ว ตอนนี้เขาตื่นเต้นพอสมควรเพราะมันยังเป็น ๆ อยู่ (ตอนที่เจอ) 

เครดิตภาพ : mainichi.jp

จากภาพจะเห็นว่ามันไม่ใช่หมึกตัวเล็ก ๆ เลย เอาแค่ลำตัวของมันโดยไม่ต้องวัดถึงปลายหนวดมันก็มีขนาดเกือบเท่าเด็กวัยรุ่นแล้ว คำถามก็คือทำไมมันถึงหลงมาจากน้ำลึกมายังน้ำตื้นได้?

ปลาหมึกยักษ์ (Giant squid) มันสามารถเติบโตจนมีขนาดมหึมา การประมาณการล่าสุดกำหนดขนาดสูงสุดไว้ที่ประมาณ 12–13 ม. ทราบว่ามันชอบอาศัยในน้ำลึก แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าลึกแค่ไหน ประเมินว่าราว 300–1,000 เมตร

เมื่อถึงช่วงเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ 21 หมึกยักษ์ยังคงเป็นหนึ่งในสัตว์ขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่เคยถูกถ่ายรูปแบบตัวเป็น ทั้งในสภาพธรรมชาติหรือในสภาพถูกจับ

จนกระทั่งภาพแรกของหมึกยักษ์ที่โตเต็มวัยถูกถ่ายเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2002 ที่หาดโกชิกิ เมืองอามิโนะ โช จังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มันมีความยาวทั้งหมด 4 ม. ถูกพบใกล้ผิวน้ำ และถูกจับได้จากนั้นผูกไว้กับท่าเทียบเรือแล้วเสียชีวิตในชั่วข้าม ตัวอย่างจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของญี่ปุ่น

ภาพถ่ายแรกของหมึกยักษ์ที่มีชีวิตในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถ่ายเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2004 โดยซึเนมิ คุโบเดระ จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของญี่ปุ่น และเคียวอิจิ โมริ สมาคมดูวาฬโอกาซาวาระ

นอกจากจะถ่ายภาพได้ยากแล้ว มันยังพบตัวเป็นใกล้ชายฝั่งได้ยากด้วย แต่มีรายงานการลอยมาใกล้ฝั่งน้ำตื้นในญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป ประเทศในแอฟริกา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ในญี่ปุ่นมีการรายงานการพบโดยเฉลี่ยทุก ๆ สองปีจนถึงปี 2013 และมีรายงานพบหมึกยักษ์รวม 20 ตัวในช่วง 37 ปีระหว่างปี 1941 ถึง 1978

ทำไมมันจึงมาใกล้ชายฝั่ง และเป็นสัญญาณเตือนอะไรหรือไม่ว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ? มีข้อสังเกตว่า  ในฤดูหนาวปี  2013/2014 มีรายงานการพบหมึกยักษ์จำนวนมากและมีรายงานพบถึง 7 ตัว

คล้าย ๆ กับสภาวะอุณหภูมิน้ำทะเลที่ใกล้เคียงกับฤดูหนาวปี 2006/2007 ที่มีรายงานพบหมึกยักษ์จำนวนมาก และเชื่อว่าในอดีตน่าจะพบมากด้วยแต่ไม่มีรายงาน 

ดังนั้นน่าเชื่อว่าการปรากฏตัวของมันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเล แต่นี่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ว่ากันด้วยสถานะของพวกมัน หมึกยักษ์ยังไม่เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะไม่ตกเป็นเป้าหมายการประมง

ข้อมูลจาก

  • “3-meter-long giant squid found stranded on Sea of Japan beach”. (April 20, 2022). Mainichi Japan.
  • “Total length 3m! Giant squid drifting to the beach … GW exhibition at the aquarium Obama City, Fukui Prefecture”. (April 20, 2022). Livedoor .

ภาพจาก @2022urataniryokan/Instagram

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย