กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 24 ชั่วโมงข้างหน้า เกือบทั่วประเทศ รวม กทม.และปริมณฑล มีฝนตกหนักถึงหนักมาก เสี่ยงท่วมฉับพลัน เหตุมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีมรสุมค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย
วันที่ 27 ก.ย. 2566 เวลา 13.00 น.กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ลักษณะอากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ลักษณะอากาศทั่วไป หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ (ออกประกาศ 27 กันยายน 2566)
ทางด้านนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศแจ้งเตือนเรื่องหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น คาดขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม 25-26 ก.ย. ส่งผลทำให้ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก กทม.และปริมณฑล มีฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 เป็นต้นไปนั้น
ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งจุดรวมพลเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในจุดเสี่ยงน้ำท่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วม โดยบูรณาการสรรพกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา และเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งจุดรวมพล 6 แห่ง ตามพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ดังนี้
- พื้นที่กรุงเทพฯเหนือ ณ สำนักงานเขตหลักสี่
- พื้นที่กรุงเทพฯกลาง ณ สำนักงานเขตดินแดง
- พื้นที่กรุงเทพฯใต้ ณ สำนักงานเขตบางนา
- พื้นที่กรุงเทพฯตะวันออก ณ สำนักงานเขตมีนบุรี
- พื้นที่กรุงธนเหนือ ณ สำนักงานเขตบางพลัด
- พื้นที่กรุงธนใต้ ณ สำนักงานเขตบางแค
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 12.00 น.วันนี้ ถึง 12.00 น.วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 5-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-31 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
กรุงเทพฯและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
(ออกประกาศ 27 กันยายน 2566)