คพ. เผยปี 64 ขยะมูลฝอยลดลงขยะติดเชื้อ-ของเสียอันตรายเพิ่มขึ้น

สถานการณ์ขยะมูลฝอยโดยรวมในปี 2564 มี 24.98 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 1 ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลพุ่ง ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม 435,187 ตัน เนื่องจากคนซื้อใช้มากขึ้น เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยในปี 2564 มีจำนวน 24.98 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 1 มีการคัดแยกขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ จำนวน 8.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 3 ขยะที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 9.68 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2563 ร้อยละ 6 และกำจัดไม่ถูกต้องประมาณ 6.69 ล้านตัน ลดจากปี 2563 ร้อยละ 15

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางมา แต่ขณะเดียวกันจากมาตรการ Work From Home และการสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่ก็ทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้น เช่น กล่องโฟม กล่องพลาสติกใส่อาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน-เย็น ถุงเครื่องปรุง ช้อน ส้อม มีดพลาสติก แก้วพลาสติก เป็นต้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและขยะพลาสติกได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) เช่น โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ที่กำหนดให้นำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์อย่างน้อย ร้อยละ 50 กำหนดอัตราค่าบริการกำจัดขยะมูลฝอย ตามมาตรา 88 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จัดทำแนวทางการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเลิกใช้พลาสติกเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำร่องประกาศ 5 ฉบับ

ด้านขยะมูลฝอยติดเชื้อ ปี 2564 มีปริมาณ 90,009.23 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 87 โดยเกิดจากขยะในโรงพยาบาล สถานพยาบาลคลินิกเอกชน โรงพยาบาลสนาม สถานกักกัน และอื่นๆ โดยมีขยะได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 81,774.67 ตัน (ร้อยละ 90.85) ซึ่งมีการให้คำแนะนำการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และชุดทดสอบแอนติเจน (ATK) ที่ใช้แล้ว โดยให้คัดแยกออกจากขยะทั่วไป และให้มีถังขยะแยกสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ


นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับของเสียอันตรายจากชุมชน ปี 2564 เกิดขึ้นประมาณ 669,518 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 1.6 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 435,187 ตัน (ร้อยละ 65) และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ประมาณ 234,331 ตัน (ร้อยละ 35)

ทั้งนี้ แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจุบันประชาชนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงมีการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยขึ้น

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่