อีก 9 ปีข้างหน้า หรือในปี 2573 ความต้องการใช้น้ำจืดของคนทั่วโลกจะมีมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ร้อยละ 40 โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมของมนุษย์ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกโดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่า จะมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคนขาดแคลนน้ำดื่มน้ำกินทั้งปี และอีก 2,700 ล้านคน ประสบปัญหานี้อย่างน้อยปีละ 1 เดือน (1) นอกจากนั้นภายในปี 2593 ภาวะการขาดแคลนน้ำของคนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,800 – 5,700 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างผู้ใช้น้ำ (2)
ไทยติดอันดับเสี่ยงขาดแคลนน้ำ
จากรายงานการวิเคราะห์เกี่ยวกับระดับความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำใน 150 ประเทศทั่วโลกพบว่าไทยติดอยู่อันดับที่ 45 และมีความเสี่ยงเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (3) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มีส่วนกระตุ้นการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นก็เป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อวัฎจักรของน้ำบนโลก เกิดความผันแปรของพายุหมุนเขตร้อน เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงยาวนาน หรือภาวะน้ำท่วมหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่เป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของโลก
ประเทศไทยได้เผชิญปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง มีปัญหาปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่เพียงพอแทบทุกปี เกิดน้ำท่วมซ้ำซากจนสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล อีกทั้งมีแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ปนเปื้อนสารพิษ โดยวิกฤตน้ำดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และการดำรงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมาก ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการทำลายความสมดุลของธรรมชาติ การทำลายป่าต้นน้ำ ไฟป่า ตลอดจนขาดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจำเป็นต้องช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรน้ำจืดที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ (4)
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) วิเคราะห์สถานการณ์น้ำปี 2564 ว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้ใน 4 เขื่อนหลักเพียง 3,884 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลวันที่ 17 ก.พ. 2564) ทำให้ฤดูแล้งปี 2563 และ 2564 มีน้ำไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตร การประปาหลายแห่งมีน้ำไม่เพียงพอ และสถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากที่สุดในรอบ 10 ปี แม้ความเค็มจะลดลงแล้ว แต่ก็ยังมีแนวโน้มเค็มต่อเนื่อง เพราะปริมาณน้ำจืดในเจ้าพระยามีน้อย ทำให้ปี 2563 ที่ผ่านมาต้องใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองที่มีเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญมาช่วยผลักดันน้ำเค็มของเจ้าพระยา (5)
ครบรอบ 10 ปี สิงห์อาสา แก้ปัญหาน้ำ 4 โครงการ
จากสถานการณ์น้ำดังกล่าว องค์กรที่ทำงานด้านสังคมมาต่อเนื่องอย่าง “สิงห์อาสา” โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงได้ประกาศภารกิจดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในวาระครบรอบ 10 ปี สิงห์อาสา ผ่าน 4 โครงการ คือ ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน ครอบคลุมภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และภาคใต้
ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด อธิบายว่า ในโอกาสครบรอบ 10 ปี สิงห์อาสา จะรวมพลังเครือข่ายบริษัทในเครือบุญรอดฯ ที่กระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศและเครือข่ายภายนอก ทั้งสถาบันการศึกษา อาสากู้ภัย และส่วนราชการต่าง ๆ มาช่วยผลักดันภารกิจดูแลทรัพยากรน้ำทั้ง 4 โครงการ ซึ่งจะทำคู่ขนานกับภารกิจหลักที่กลุ่มสิงห์อาสาได้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติเร่งด่วนต่าง ๆ รวมทั้งโครงการสร้างงานสร้างอาชีพบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหา Covid-19 ตามที่บริษัทฯ ได้ประกาศไว้
สำหรับโครงการต้นน้ำ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่สถานีควบคุมไฟป่าห้วยฮ่องไคร้- ขุนแม่กวง ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยได้ร่วมกับ บริษัท เชียงใหม่ เบเวอเรช จำกัด บริษัท สิงห์ปาร์คเชียงราย จำกัด มูลนิธิกระจกเงา และเครือข่ายสถาบันการศึกษาภาคเหนือ 10 สถาบัน พร้อมด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดกิจกรรมแก้ปัญหาไฟป่า และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันไฟป่า อาทิ เครื่องมือทำแนวกันไฟ รองเท้าเซฟตี้ ฯลฯ สนับสนุนอาหาร น้ำดื่มสำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครปฏิบัติงาน รวมถึงการการปลูกป่าและสร้างฝายต้นน้ำ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของป่าต้นน้ำให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืนตลอดปี
ถัดมาโครงการ “สิงห์อาสา แหล่งน้ำชุมชน” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกับ บริษัท ขอนแก่น บริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท มหาสารคาม เบเวอเรช จำกัด และเครือข่ายสถาบันการศึกษาภาคอีสาน 16 สถาบัน ร่วมบริหารจัดการน้ำในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง สร้างธนาคารน้ำสิงห์แก้ปัญหาเรื่องน้ำบริโภค และนำองค์ความรู้เรื่องการขุดบ่อน้ำชุมชน สร้างธนาคารน้ำใต้ดินมาถ่ายทอดให้ประชาชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อย่างยั่งยืน
โครงการ “สิงห์อาสา ฟื้นฟูสายน้ำ” เขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ได้ร่วมกับ บริษัท วังน้อย เบเวอเรช จำกัด บริษัท ปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด บริษัท บุญรอดเอเซีย เบเวอเรชจำกัด บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด บริษัท สามเสน บริวเวอรี่ จำกัด และกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานกู้ภัย และเครือข่ายสถาบันการศึกษาภาคกลาง 10 สถาบัน แก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยน้ำเสียและทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภคได้ และยังเป็นสาเหตุของน้ำท่วม โครงการนี้มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา โดยจะมีกิจกรรมเก็บขยะร่วมกับคนในท้องถิ่น รักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลองก่อนไหลลงสู่ทะเล
ปิดท้ายด้วยโครงการ “สิงห์อาสา ซี ยู สตรอง” ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยร่วมกับ บริษัท สุราษฎร์ธานี เบเวอเรช จำกัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และเครือข่ายสถาบันการศึกษาภาคใต้และตะวันออก 12 สถาบัน อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจะมีกิจกรรมเก็บขยะ สร้างแนวปะการังเทียม ปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนในท้องถิ่นตนเองเพื่อการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
“สิงห์อาสา” เป็นองค์กรทางสังคมที่เริ่มมาจากการรวมตัวกันของพนักงานบุญรอดฯ เมื่อปี 2554 ในช่วงเกิดมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบ 70 ปี ปัจจุบันได้ขยายสู่กลุ่มนิสิตนักศึกษาตลอดจนประชาชนทั่วไป เครือข่ายสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงมูลนิธิอาสา หน่วยงานราชการต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำของประเทศยังต้องได้รับการแก้ไขต่อไป และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นนั้นมีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้นได้ตลอด โดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้งซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น
อ้างอิง
- 11 เมืองเสี่ยงเผชิญภาวะ “ขาดแคลนน้ำดื่ม”. BBC
- “สถานการณ์น้ำในวิกฤตโลกร้อน”. Greenpeace Thailand
- “สมดุลน้ำและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม”. The Standard
- “สถานการณ์น้ำจืดในโลกและประเทศไทยในปัจจุบัน”. WWF
- “เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำปี 64 ห่วง เหนือ-กลาง แล้งต่อเนื่อง”. Prachachat