ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ และเฮอริเคน เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่มีมุมใดของโลกที่จะรอดพ้นผลกระทบสภาพอากาศที่เลวร้าย
ตามรายงานฉบับใหม่ของ Christian Aid องค์กรการกุศลเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ได้จัดอันดับ 10 เหตุการณ์ราคาแพงจากความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงมูลค่าในส่วนของผู้ประกันตน ซึ่งค่าใช้จ่ายจากความเสียหายอาจสูงกว่านั้นมาก
1.พายุเฮอริเคนเอียน – 100,000 ล้านดอลลาร์
เอียนเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 ที่สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างทางตะวันตกของคิวบาและทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาในปลายเดือนกันยายน กว่า 7 วันความรุนแรงของพายุได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 150 คน และไร้ที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 40,000 คน
2. ภัยแล้งในยุโรป – 20,000 ล้านดอลลาร์
ภัยแล้งในยุโรปปี 2022 ถือได้ว่าเป็นภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 500 ปีของยุโปร ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร พลังงาน แหล่งน้ำ และสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดไฟป่าอีกเป็นจำนวนมาก การสูญเสียพืชผลทางการเกษตร และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 ราย
3. น้ำท่วมในจีน – 12,300 ล้านดอลลาร์
ในเดือนมิถุนายนของปีที่แล้วทางตอนใต้ของจีนมีฝนตกหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 1961 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มทำให้ประชาชนหลายแสนคนต้องอพยพ ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมนี้เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของจีนที่หลายเมืองมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์
4. ภัยแล้งในจีน – 8,400 ล้านดอลลาร์
ต่อจากน้ำท่วมในปลายเดือนสิงหาคมจีนก็ประสบกับฤดูร้อนที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุด นับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1961 อุณหภูมิที่ร้อนจัดกินเวลากว่า 70 วัน ปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าปกติส่งผลกระทบต่อลุ่มแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำรองรับประชากรมากกว่า 450 ล้านคน และเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ
5. น้ำท่วมทางตะวันออกของออสเตรเลีย – 7,500 ล้านดอลลาร์
ออสเตรเลียตะวันออกก็โดนน้ำท่วมเช่นกัน โดยน้ำท่วมหลายครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดของประเทศ มีผู้เสียชีวิต 27 คน และพลัดถิ่นฐานกว่า 60,000 คน มีรายงานขาดแคลนอาหารทั่วภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
6. น้ำท่วมปากีสถาน 5,600 ล้านดอลลาร์
ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกันยายน อุทกภัยได้คร่าชีวิตผู้คนในปากีสถานไปกว่า 1,700 คน และพลัดถิ่นอีก 7,000,000 คน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากฤดูร้อนที่ร้อนที่อุณหภูมิสูงทำลายสถิติ
น้ำท่วมในปากีสถานระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,739 คน และทำให้ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยอีก 7,000,000 คน นับเป็นน้ำท่วมที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่น้ำท่วมในเอเชียใต้ในปี 2020 และได้รับการอธิบายว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงมาจากฝนที่หนักกว่าปกติและธารน้ำแข็งที่ละลาย ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวปากีสถานก็เผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงทำลายสถิติ นักวิทยาศาสตร์พบว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน
7.พายุยูนีซ – 4,300 ล้านดอลลาร์
กว่าห้าวันในเดือนกุมภาพันธ์ พายุยูนิซสร้างความเสียหายทั่วเบลเยียม เยอรมนี ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีผู้เสียชีวิต 16 คน จากพายุดังกล่าว และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ลมแรงทำลายสถิติทำให้โครงสร้างเสียหายครั้งใหญ่ การขนส่งวติดขัด และไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ โรงเรียนและธุรกิจหลายแห่งต้องปิดเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย
8. ภัยแล้งในบราซิล – 4,000 ล้านดอลลาร์
ปี 2022 เป็นปีที่สองที่บราซิลเผชิญปัญหาภัยแล้งติดต่อกัน การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะข้าวโพด ถั่วเหลือง และน้ำตาล ส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นและสร้างความเสียหายต่อมาตรฐานการครองชีพของชาวบราซิลจำนวนมาก ภัยแล้งส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
9. เฮอริเคนฟิโอน่า – 3,000 ล้านดอลลาร์
เฮอริเคนฟิโอนาพัดถล่มทะเลแคริบเบียนและแคนาดาในช่วงหลังของเดือนกันยายน เป็นเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มแคนาดาตั้งแต่เริ่มมีการบันทึก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน และทำให้ไร้ที่อยู่อาศัย 13,000 คน สนามบินนานาชาติอย่างน้อยสี่แห่งถูกปิด ถนนถูกปิด และชุมชนจำนวนหนึ่งถูกตัดขาด
10. น้ำท่วม KwaZulu Natal และ Eastern Cape แอฟริกาใต้ – 3,000ล้านดอลลาร์
ในเดือนเมษายนมีเนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันทั่วควาซูลู-นาทาลทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกาใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 435 คน เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในประเทศในศตวรรษที่ 21 และผู้คนยังคงสูญหายโดยไม่ทราบจำนวน บ้านเรือนหลายพันหลังได้รับความเสียหายและพังทลาย และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนนสายหลัก การคมนาคม การสื่อสาร และระบบไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
รายงานดังกล่าวทำให้เกิดการตระหนักถึงผู้รับผิดชอบต่อ ‘ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ‘ ที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก และได้กลับไปย้อนดูประเด็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสียหายจากสภาพอากาศที่ประเทศต่างๆ ได้ลงนามในสนธิสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ในเวทีเจรจาระดับโลก COP27 ที่ประเทศอียิปต์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอีกครั้ง
Patrick Watt ผู้บริหารระดับสูงของ Christian Aid กล่าวว่าตัวเลขในรายงานชี้ไปที่ “ต้นทุนทางการเงินของการเพิกเฉยต่อวิกฤตสภาพอากาศ”
ต้นทุนของมนุษย์จากวิกฤตที่หมุนวน “เห็นได้จากบ้านเรือนที่ถูกน้ำพัดหายไป บุคคลอันเป็นที่รักเสียชีวิตจากพายุ และวิถีชีวิตที่ถูกทำลายจากภัยแล้ง” เขากล่าวเสริม
อ้างอิง
- Dec 27,2022, “Most expensive climate disasters 2022: costliest floods, droughts, and storms – how many occurred this year?” National World
- Dec 30,2022, “10 most costly climate change-related disasters in 2022 revealed.”