เมื่อพระเจ้าปกป้องป่าให้มนุษย์

ใครที่เคยผ่านทศวรรษที่ 80 คงจะจำกันได้ว่า ระหว่างปี 1983 – 1985 ประเทศเอธิโอเปียเผชิญกับภัยอดอยากครั้งรุนแรง มีผู้คนล้มตายมากถึง 400,000 คน ภาพของผู้คนที่ผอมแห้งจนคล้ายกับซากศพเดินได้ ยังคงหลอกหลอนอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ และทำให้ชื่อประเทศเอธิโอเปียมีภาพลักษณ์ของความเป็นดินแดนที่แร้นแค้น ไร้ความเขียวขจี และไร้ความหวัง

แต่บางส่วนของเอธิโอเปียเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ในยุคสมัยที่ประเทศนี้พ้นจากความแร้นแค้นสุดขีด และมุ่งสู่เส้นทางแห่งการพัฒนา ภาคเหนือของเอธิโอเปียมีชุมชนที่ตั้งอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดในโลก (เขต Dallol) ทั้งยังเป็นเขตทะเลทรายที่ยากจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ขณะที่ภาคตะวันตกเป็นป่าเขาที่เขียวขจีเต็มไปด้วยทรัพยากรอันอุดม

การขยายตัวของทะเลทรายยังไม่น่าวิตกเท่ากับการขยายตัวของมนุษย์เข้าสู่ป่า นี่คือตัวการสำคัญที่ทำลายดินแดนสีเขียวของเอธิโอเปีย

เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมยังล้าหลัง และยากที่จะปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ถูกสังคมสมัยใหม่มองว่าล้าหลังยิ่งกว่ากฎหมายกลับช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สิ่งนั้นคือความเชื่อในพระเจ้า ศรัทธาในศาสนาคริสต์นิกายเอธิโอเปียน ออร์ธอดอกซ์ (Ethiopian Orthodox Tewahedo Church) ที่หยั่งรากลึกในดินแดนแห่งนี้มานานนับพันปี

เอธิโปเปียเป็นประเทศคริสเตียนประเทศแรกๆ ของโลก และนับถือศาสนาคริสต์มาก่อนนานาประเทศในโลกตะวันตก ท่ามกลางดินแดนมุสลิมและดินแดนของชนพื้นเมืองที่นับถือผีและวิญญาณบรรพชน ประเทศแห่งนี้จึงเป็นดั่งโอเอซิสของคริสตศาสนาท่ามกลางศาสนาอื่นๆ นับเป็น “พื้นที่สีเขียว” ที่โดดเดี่ยวในแอฟริกา

คำว่า “พื้นที่สีเขียว” เป็นทั้งการอุปมาและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ท่ามกลางพื้นที่แห้งแล้งปานนรกของภาคเหนือ อันเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ร้อนที่สุดในโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ ยังมีโอเอซิสที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนเอาไว้ เป็นพื้นที่ป่าเพียง 5% ของภาคเหนือ ซึ่งไม่ใช่ป่าธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ป่าปลูกเสียทีเดียว มันคือป่าของอารามในคริสตศาสนา หรือ Church Forests

อารามคริสเตียนในเอธิโอเปียจะแวดล้อมด้วยผืนป่าขนาดย่อมและใหญ่ ป่าเป็นทั้งร่มเงาสำหรับผู้มาแสวงบุญ เป็นที่สงบกายใจของนักบวช และเป็นแหล่งอาหารสำหรับสรรพชีวิตในพื้นที่โดยรอบ “วัดป่า” ของเอธิโอเปียจึงเป็นที่พึ่งพิงทั้งทางจิตวิญญาณและชีวิตทางโลก

ศาสนจักร หรือจะว่าไปแล้ว คือ “พระเจ้า” ที่เป็นผู้รักษาพื้นที่สีเขียวเอาไว้ท่ามกลางไร่น่าที่แวดล้อมหรือท่ามกลางพื้นที่ที่ถูกแผ้วถางจนหมดสภาพป่า แต่ผู้รุกรานยังไม่กล้าที่จะโค่นป่าของพระเจ้า

นั่นเพราะป่าของพระเจ้าทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของเอธิโอเปียจึงยังดำรงอยู่ได้ เป็นแหล่งน้ำสำหรับมนุษย์และสัตว์ และการรักษาหน้าดิน ในเวลาเดียวกันยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงอีกด้วย ในด้านหนึ่งมันคือการจัดการพื้นที่ป่าชุมชนโดยใช้ศาสนาเป็นแกนหลักนั่นเอง

ตามปกติแล้วป่าของพระเจ้าจะล้อมรอบด้วยกำแพงหิน กำแพงเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่กำหนดพื้นที่หวงห้ามและรักษาป่าเอาไว้เท่านั้น การสร้างกำแพงหินยังช่วยกำจัดหินที่กองเกะกะพื้นที่ทำเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นับเป็นการเกื้อกูลกันอย่างหนึ่ง 

ในเวลานี้ นักวิจัย นักบวช และชุมชนกำลังร่วมมือกันเพื่อรักษาผืนป่าเป็นหย่อมเพียง 5% เหล่านี้เอาไว้ แม้จะน้อยนิด แต่เป็นเสมือนปอดน้อยๆ ที่คอยอุ้มชูดินแดนอันแห้งผากให้มีความหวัง

Alemayehu Wassie Eshete บอกกับ national Geographic ว่า “ในแง่มุมด้านนิเวศวิทยาเหมือนกับการเดินทางจากนรกสู่สรวงสวรรค์”

Eshete เป็นนักวิจัยชาวเอธิโอเปียที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงศึกษาป่าแห่งพระเจ้า และเผยแพร่งานวิจัยใน  https://www.researchgate.net/scientific-contributions/2118682740_Alemayehu_Wassie_Eshete ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาผลงานของเขาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังอาจช่วยให้เราสามารถใช้ศาสนาช่วยรักษาระบบนิเวศเอาไว้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการของ Tree Foundation ที่ระดมทุนช่วยเหลือโครงการสร้างกำแพงหินปกป้องป่าแห่งพระเจ้าในเอธิโอเปีย สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ที่ https://treefoundation.org/projects/church-forests-of-ethiopia

โครงการนี้จะช่วยรักษาพื้นที่ป่าอันน้อยนิดให้เหลือรอด ช่วยเหลือชาวเอธิโอเปียในถิ่นทุรกันดาลให้มีแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นแบบอย่างของการใช้วิถีแห่งจิตวิญญาณช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวเอาไว้ ในยุคที่วัตถุนิยมกำลังทำลายป่าอย่างบ้าคลั่ง

#article #igreenstory #savetheforests

อ้างอิง

Saving the Forests of Ethiopia – One Church at a Time

Ethiopia’s ‘church forests’ are incredible oases of greenhttps://www.nationalgeographic.com/environment/2019/01/ethiopian-church-forest-conservation-biodiversity/

Pic: Africa Geographic Magazine

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย