Opinion: เราทุกคนคือกบที่ถูกต้มในโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ

โดย –  The Green Mile

ถ้าเราหย่อนกบลงในน้ำเดือดทันทีทันใดมันก็จะกระโดดออกมา เพราะสะดุ้งน้ำร้อน แต่ถ้ากบถูกหย่อนลงไปในน้ำอุ่นแล้วนำไปต้มช้าๆ มันจะไม่รับรู้ถึงอันตรายและจะนอนแช่อยู่ในน้ำเดือดจนตาย

เรื่องนี้มักใช้เป็นคำอุปมาถึงการไร้ความสามารถหรือไม่เต็มใจของผู้คนที่จะตอบสนองหรือตระหนักถึงภัยคุกคามที่น่ากลัวและเกิดขึ้นอย่างช้าๆ มากกว่าที่จะเกิดขึ้นในทันที

กบที่ถูกต้มคือการอธิบายความชินชาจนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังพบกับจุดจบ

กบต้มถูกนำไปใช้เปรียบเทียบหลายสถานการณ์ รวมถึงความเฉยเมยของมนุษย์ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ในช่วงทศวรรษที่ 90 มันถูกใช้เพื่อตำหนิความไม่เอาการเอางานของทุกฝ่ายที่จะแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก

ในปี 2538 นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อม Daniel Quinn เขียนนิยายที่ชื่อว่า The Story of B ใช้คำอุปมาของกบเดือด เพื่ออธิบายการเติบโตของประชากรจากการผลิตอาหารแบบ “แมส” ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ตัวอย่างการเล่าเรื่องของเวอร์ชั่นนี้บอกว่า

“หากคุณหย่อนกบในหม้อต้มน้ำ แน่นอนว่ามันจะตะเกียกตะกายพยายามปีนป่ายออกมา แต่ถ้าคุณหย่อนมันเบาๆ ในน้ำอุ่นและใช้ความร้อนต่ำ มันจะลอยอยู่ที่นั่นอย่างสงบ เมื่อน้ำอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ กบจะจมลงในอาการมึนงงที่เงียบสงบเหมือนกับพวกเราตอนที่กำลังอยู่ในอ่างน้ำร้อน และอีกไม่นานมันจะปล่อยให้ตัวเองถูกต้มจนตาย ด้วยรอยยิ้มบนใบหน้า”

จากทศวรรษที่ 1990 จนถึงทศวรรษที่ 2020 ตอนนี้เวลาผ่านมาถึง 30 ปีแล้ว มนุษย์ชาติก็ยังเป็นกบที่ถูกต้มไม่รู้ตัวในหม้อที่น้ำกำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ

เดือน ม.ค.ปีนี้ คือเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถัดมาในเดือน ก.พ. มีข่าวว่าทวีปแอนตาร์ติกมีอุณหภูมิสูงกว่า 20 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เราจะพบว่าเกือบทุกเดือนมีรายงานอากาศที่ร้อนที่สุดแบบที่ไม่เคยร้อนอย่างนี้มาก่อน

เราไม่ใช่กบที่ถูกต้มในหม้อน้ำร้อนที่เรียกว่า “โลก” แล้วจะเรียกว่าอะไร?

Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากความพยายามทำให้ชาวโลกตระหนักต่อปัญหาโลกร้อน เขายกอุปมานี้ในภาพยนตร์ An Inconvenient Truth เพื่อชี้ให้เห็นว่า พวกเราโง่เขลาแค่ไหนที่ทำตัวเองให้มีสภาพเหมือนกบที่ถูกต้ม

แต่อย่างน้อยในตอนสุดท้ายของภาพยนตร์ พบกบที่กำลังถูกต้มตัวนั้นถูกหยิบออกมาจากหม้อก่อนที่มันจะถูกลวกจนตายโดยไม่รู้ตัว

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน