สรุปสถานการณ์มลพิษปี 2561
อยู่ในเกณฑ์พอใช้

by IGreen Editor

สรุปสถานการณ์มลพิษปี2561 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างแย่สุด ตำบลหน้าพระลาน-มาบตาพุด มลพิษอากาศเพิ่ม ขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. กรมควบคุมมลพิษ ( คพ.) แถลงสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ปี 2561 ระบุว่า คุณภาพน้ำ 59 แม่น้ำสายหลัก และ 6 แหล่งน้ำนิ่ง อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 45 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 12 ไม่มีแหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากตั้งแต่ปี 2552

แหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคุณภาพดีมากกว่าภาคอื่น ภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่น ภาพรวมในรอบ 10 ปี (ปี ‭2552-2561‬) คุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ โดย 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุดในปี 2561 ได้แก่ แม่น้ำตาปีตอนบน อูน แควน้อย ลำชี สงคราม และ 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ลำตะคองตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ท่าจีนตอนกลาง

สำหรับคุณภาพน้ำทะเล อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 1 เกณฑ์ดี ร้อยละ 58 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 35 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 5 และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 1 ชายหาดเกาะม้า จ.สุราษฎร์ธานี และทะเลแหวก จ.กระบี่ มีคุณภาพน้ำทะเลดีที่สุด บริเวณอ่าวไทยตอนใน ปากแม่น้ำสายหลัก ยังคงเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากระบบจัดการน้ำเสียชุมชนยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถรวบรวมน้ำเสียทั้งหมดมาบำบัด

คุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไป ภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติทั่วประเทศ 33 จังหวัด รวม 63 สถานี พบจำนวนวันในรอบปีที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 20 จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ตาก สระบุรี สงขลา และที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย นนทบุรี ปทุมธานี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล ยะลา นราธิวาส พารามิเตอร์ที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM2.5 ก๊าซโอโซน และฝุ่นละออง PM10

9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานลดลงจากปี 2559 และปี 2560 จาก 61 วัน และ 38 วัน เป็น 34 วัน ลดลงร้อยละ 44 และ 11 จุดความร้อนสะสมมีค่าลดลงจากปี 2559 และปี 2560 จาก 10,133 จุด และ 5,418 จุด เป็น 4,722 จุด ลดลงร้อยละ 53 และ 13 ถือว่า สถานการณ์ดีขึ้นมาก

ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 165 วัน จากการตรวจวัด 362 วัน หรือร้อยละ 46 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27 ค่าที่วัดได้อยู่ระหว่าง 27 – 303 มคก./ลบ.ม. สาเหตุจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองหินในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง การจราจร การบรรทุกขนส่ง ถนนชำรุด และพื้นที่ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง สารเบนซีน และ 1,3–บิวทาไดอีน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ขณะที่ 1,2-ไดคลอโรอีเทน ลดลงแต่ยังคงเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ สาเหตุเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่มีการใช้และผลิตสารดังกล่าว

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดี คพ. ระบุว่า การจัดการคุณภาพอากาศในอนาคตจะมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศ ยกระดับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานยูโร กำหนดระยะเวลาการตรวจสภาพรถยนต์ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีตามปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ

ขณะที่ สถานการณ์ขยะมูลฝอย มีขยะเกิดขึ้นประมาณ 27.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.64 เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ประชากรและประชากรแฝงแรงงานเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน ร้อยละ 34 ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน ร้อยละ 39 กำจัดไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน ร้อยละ 27 โดยขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์แค่ 0.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. ‭2562-2570‬) โดยให้ลด เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมสารประเภทอ็อกโซ่ ไมโครบีดจากพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียว) ขนาดความหนาน้อยกว่า 300 ไมครอน หลอดพลาสติก อีกทั้งต้องเข้มงวดกับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง และบังคับใช้กฎหมายนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกอย่างเข้มงวด
.
ด้านของเสียอันตรายจากชุมชน มีขยะเกิดขึ้น 638,000 ตัน ร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 414,600 ตัน และร้อยละ 35 เป็นอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ 223,400 ตัน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นเป็น 83,600 ตัน ร้อยละ 13 ส่วนขยะมูลฝอยติดเชื้อ เกิดขึ้น 55,497 ตัน ร้อยละ 50 มาจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และร้อยละ 24 มาจากโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 49,898 ตัน ร้อยละ 90

กากของเสียอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบการจัดการ 22.02 ล้านตัน เป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 20.82 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมอันตราย 1.2 ล้านตัน ปี 2561 มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อนำมาคัดแยก ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับชาติ โดยให้ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ อนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี (ปี ‭2562 – 2563‬) ยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นรายการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบให้นำเข้าตามความจำเป็น

สถานการณ์มลพิษโดยภาพรวมของประเทศไทย ถือว่า อยู่ในเกณฑ์พอใช้และดีขึ้นกว่าปี 2560 ทั้งคุณภาพแม่น้ำสายหลัก คุณภาพน้ำทะเล ส่วนอากาศใน 9 จังหวัดภาคเหนือดีขึ้น แต่ที่ประสบปัญหาคือ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ในช่วงเดือน ธ.ค. – ก.พ. โดยมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน สาเหตุหลักมาจากรถยนต์ ประกอบกับสภาพอากาศจมตัว ไม่มีลม ส่วนขยะมูลฝอยมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64

Copyright @2021 – All Right Reserved.