“ปี 2565 ไทยจะต้องเลิกใช้หรือแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มอีก 4 ชนิด ประกอบด้วย 1. ถุงหูหิ้วขนาดหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2. หลอด 3.กล่องโฟมบรรจุอาหาร และ 4.แก้วพลาสติกแบบบาง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกลง
“ซึ่งจะทำให้ไทยในปี 2565 มีการบังคับให้เลิกใช้พลาสติกเพิ่มเติมรวมเป็น 7 ชนิด และขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกได้บังคับห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แม้ว่าช่วงโควิด-19 จะแผ่วไปบ้าง แต่ล่าสุดจีนก็ประกาศห้ามใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งใน 5 เมืองใหญ่ในปีนี้” นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) กล่าวในเวทีเสวนา “เมื่อผู้ใช้และผู้ผลิตต้องจับมือกันเพื่อดูแลโลก” เมื่อวันที่ 28 กันยายน ซึ่งจัดโดย TBIA
นายวิบูลย์ กล่าวว่า การแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งถูกทดแทนการใช้โดยพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) และทั่วโลกมีการใช้ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทยเพราะพลาสติกชีวภาพตอบโจทย์รักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและไทยเองเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาที่มีกำลังผลิต 2-3 แสนตันต่อปี
ส่วนไทยมีกำลังผลิต 1 แสนตันต่อปีและจะเพิ่มจากโรงงานเนเจอร์เวิร์กอีกราว 7.5 หมื่นตันต่อปี มีโรงงานขึ้นรูปผลิตภัณฑ์หลายราย ซึ่งพร้อมผลิตเพื่อรองรับดีมานด์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างมีศักยภาพ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยยอมรับว่า การใช้อาจจะยังไม่แพร่หลายนักเนื่องจากราคาพลาสติกชีวภาพสูงกว่าราคาพลาสติกทั่วไปถึง 3-5 เท่าและเป็นไปได้ยากที่ราคาไบโอพลาสติกจะมีราคาถูกหรือใกล้เคียงกับพลาสติกทั่วไปเพราะต้องให้ราคาน้ำมันดิบขึ้นไปสู่ระดับ 150-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไบโอพลาสติก คือน้ำตาลและแป้งซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าราคาน้ำมันมาก
“ขณะนี้พลาสติกชีวภาพของไทยโตเฉลี่ยปีละ 15% ส่วนอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่นโยบายรัฐ โดยเห็นว่าหากจะส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นเพื่อให้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปีบรรลุเป้าหมาย จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจการใช้ผ่านมาตรการทางภาษี” นายวิบูลย์ ระบุ
น.ส.วรินทร อยู่วิมลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอ-อีโค จำกัด (Bio-Eco) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวรจร กล่าวว่า มี 5 กลุ่มธุรกิจในประเทศที่หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกมากขึ้น ทั้งในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในธุรกิจซึ่งรวมถึงการใช้ช้อน ส้อม แก้วน้ำ กล่องกระดาษ หลอดที่ผลิตจากไบโอพลาสติกเพื่อทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
นอกจากนี้ยังขยายไปยังผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ร้านกาแฟ ที่ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจและตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อแบรนด์ในสายตาของผู้บริโภคอีกด้วย
“แต่ปัญหาการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกนั้นผู้ใช้ต้องทำความรู้จัก ‘พลาสติกชีวภาพ’ กันก่อนว่าเป็น ”ไบโอแท้” หรือ”ไบโอเทียม” โดยไบโอพลาสติกแท้เป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (compostable) ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากพืชทางการเกษตร ทั้งอ้อย มันสำปะหลังมาผลิตพลาสติกแทนการใช้ปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรที่มีวันหมด
“ส่วนไบโอเทียมพลาสติกที่มีการเติมสารเติมแต่งจำพวกโลหะหนักลงไปในพลาสติกทั่วไป (PE, PP, PET, PVC) เพื่อให้พลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้เร็วขึ้น ในสภาวะที่มีแสงแดด ความร้อน หรือความชื้น ซึ่งไม่มีการย่อยสลายทางธรรมชาติ เรียกว่า Oxo-degradable Plastic หรือระยะหลังมักแฝงตัวโฆษณาว่า Biodegradable, Degradable โดยไม่มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือรับรอง” น.ส.วรินทร ระบุ
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ไบโอแท้ได้โดยการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เบื้องต้นได้ด้วยการดูสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายมาตรฐานการรับรองที่พิมพ์อยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ ดังนี้ 1. GC Compostable 2. ASTM D6400 3. EN 13432 4. ISO 17088 และ 5. มอก. 17088-2555
สำหรับไทยนั้นมีโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกระยะ 20 ปี (2561-2573) โดยระยะแรกปี 2562 จะแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด คือ 1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ (Cap Seal) 2. ไมโครบีด (Microbead) หรือเม็ดพลาสติก ที่อยู่ในเครื่องสำอางช่วยขัดหน้า และ 3. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) คือพลาสติกที่ใส่สารให้แตกตัวและในปี 2565 จะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอีก 4 ชนิด