ประเทศไทยเริ่มดำเนินมาตรการลดขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ภายหลังที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ได้พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี (2561-2580) โดยได้กำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single-use Plastic ที่เป็นขยะในทะเลของประเทศไทย และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
ตามแผนดังกล่าวจะมีการลดและเลิกใช้พลาสติกรวม 7 ชนิด ภายใน 6 ปี หรือปี 2568 ประกอบด้วย 1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (แคปซีล) 2.ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 3.ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) จะเลิกใช้ปี 2562 4.กล่องโฟมบรรจุอาหาร เลิกใช้ปี 2565 5.แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 6. หลอดพลาสติก เลิกใช้ปี 2568 และ 7.ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (oxo)
วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ระบุว่า เป้าหมายโดยรวมของมาตรานี้คือลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภท Single-use Plastic 70% ภายในปี 2580 หรือในอีก 18 ปีข้างนี้และจะนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ทดแทนมากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินมาตรการจัดการขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ของประเทศ และตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี 2573
ทั้งนี้ สำหรับโครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ระบุว่า สามารถลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้ทั้งสิ้น 155 ล้านใบ รวมเป็นยอดเงินบริจาค 10 ล้านบาท ส่วนกิจกรรม “ทำความดีด้วยหัวใจลดรับลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ของกระทรวงที่ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนสามารถลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้ทั้งสิ้น 344 ล้านใบ