ปลูกต้นไม้ 1.2 ล้านล้านต้นลดโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังวิกฤต ด้วยการช่วยกันปลูกต้นไม้ทั่วโลก จำนวน 1.2 ล้านล้านต้น

โทมัส ครอว์เธอร์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน ศึกษาพบว่า หากสามารถช่วยกันปลูกต้นไม้ให้ได้ 1.2 ล้านล้านต้นทั่วโลก จะเป็นวิธีการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดมากกว่าวิธีการใดๆ ที่มนุษย์มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ระบบพลังงานทางเลือก และการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์

การวิจัยของ ดร.ครอว์เธอร์ อาศัยการนำฐานข้อมูลจากทั้งการสำรวจทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมของป่าไม้ทั่วโลก พบว่าต้นไม้บนโลกนั้นเหลืออยู่ประมาณ 3 ล้านล้านต้นเท่านั้น มากกว่าที่องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า เคยประเมินไว้ถึง 7 เท่า

จากนั้นทีมวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ประมวลผลบิ๊กดาต้า เพื่อหาว่ามีพื้นที่ว่างหลงเหลือเพียงพอเท่าใด หากมนุษย์ต้องการปลูกต้นไม้ลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และพบว่าได้คำตอบที่น่าทึ่งอย่างมาก

ขณะที่ กลุ่มโปรเจ็กต์ ดรอว์ดาวน์ ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรกลางนานาชาติที่คอยประเมินกระบวนการแก้ไขโลกร้อนต่างๆ ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด ระบุว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดเป็นการหันมาใช้พลังงานลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรีไซเคิลในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น จะสามารถลด CO2 ลงได้ 80 กิกะตันต่อปี (8 หมื่นล้านตันต่อปี) ขณะที่การปลูกป่านั้นอยู่ที่ลำดับ 15 ลดได้เพียง 18 กิกะตันต่อปี ( 1.8 หมื่นล้านตันต่อปี)

ทว่า ผลการศึกษาล่าสุดของ ดร.ครอว์เธอร์ กลับพบว่า ป่าไม้บนโลกปัจจุบันที่มีต้นไม้อยู่ราว 3 ล้านล้านต้น มีความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากถึง 400 กิกะตันต่อปี

ดร.ครอว์เธอร์ ระบุว่า หากเทียบบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ โดยเพิ่มต้นไม้บนโลกขึ้นมาอีก 1.2 ล้านล้านต้น พบว่าจะสามารถลดก๊าซก่อโลกร้อนในปริมาณเท่ากับที่มนุษย์สร้างมาทั้งหมดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ดร.ครอว์เธอร์ กล่าวในการประชุมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของสมาคมนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ณ กรุงวอชิงตัน ว่า ต้นไม้คืออาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโลกร้อน แม้การปลูกป่าให้หวนกลับมาดังเดิมทั่วโลกจะเป็นไปไม่ได้ แต่แนวโน้มโครงการปลูกป่าที่มีขึ้นในโลกนั้นกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานระบุว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น มีโครงการปลูกป่า ชื่อว่า บิลเลียน ทรี แคมเปญ (Billion Tree Campaign) แปลว่า ต้นไม้พันล้านต้น แต่จากผลการศึกษาล่าสุดทำให้ยูเอ็นได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “ทริลเลียน ทรี แคมเปญ (Trillion Tree Campaign)” แปลว่า ต้นไม้ล้านล้านต้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวของยูเอ็นประสบความสำเร็จในการปลูกต้นไม้ไปแล้วทั่วโลก 1.38 หมื่นล้านต้น

“เราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่พื้นที่การเกษตรและชนบท แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินรกร้าง หรือบริเวณที่เสื่อมโทรม การปลูกต้นไม้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ถึงสองประการในคราวเดียว ได้แก่ โลกร้อน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ”

“มันสวยงามมากครับ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ต้นไม้ทำให้ชีวิตพวกเรามีความสุขขึ้น เพิ่มคุณภาพอากาศ คุณภาพแหล่งน้ำ คุณภาพอาหาร และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ สิ่งเหล่านี้ทำได้จริง และไม่ยากเลย” ครอว์เธอร์ ระบุ

ที่มา: the Indipendent / khaosod.co.th

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่